รมว.พลังงานนัดถกกบง.ปลายเดือน เม.ย.เร่งใช้ดีเซลบี10

>>

กระทรวงพลังงานเดินหน้าส่งเสริมปั๊มน้ำมันขายบี10 หลังค่ายรถญี่ปุ่นการันตี เว้นค่ายยุโรป-สหรัฐ เล็งถกกบง.ปลายเม.ย.เคาะออกมาตรการจูงใจเพิ่มยอดใช้


นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน
เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมผลักดันการใช้ดีเซล บี10 ซึ่งมีส่วนผสมของไบโอดีเซล (บี100) สัดส่วน 10% ในน้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันทางเลือกในเดือน พ.ค.นี้ หลังผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายรถญี่ปุ่นยืนยันเครื่องยนต์สามารถใช้ บี10 ได้ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังมีความกังวลเรื่องมาตรฐานของบี100 ที่ควรให้มีความบริสุทธิ์มากกว่าในปัจจุบัน ขณะที่ค่ายรถยุโรปและสหรัฐ ยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้บี10 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้กระทรวงยังไม่สามารถประกาศใช้บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานได้


ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนเม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว พร้อมหามาตรการจูงใจเพื่อให้เกิดการใช้ บี10 ซึ่งอาจจะใช้มาตรการด้านราคาเข้ามาพิจารณาด้วย


อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีผู้เสนอให้ลดราคาขายปลีกให้ต่ำลงกว่าดีเซลบี 7 ประมาณ 1 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่บางส่วนมองว่าไม่จำเป็นต้องลดราคาก็ได้เพราะการใช้บี 10 ที่เพิ่มจะเป็นการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มซึ่งคนไทยน่าจะให้การสนับสนุนอยู่แล้ว

"ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นยืนยันการใช้บี10 ได้ไม่มีปัญหา สำหรับรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาหรือรถยนต์ที่มีอายุไม่เกิน 6-7 ปี ส่วนรถยนต์เก่าอาจต้องนำรถไปปรับสภาพให้พร้อมใช้ได้ ส่วนค่ายยุโรป ยังไม่พร้อมเปลี่ยนมาใช้บี10 ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ บี10 ต่อไปนั้นก็จะให้สถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) เลือกว่าปั๊มไหนจะขาย บี10 เป็นดีเซลฐานก็เลือกได้ ส่วนสถานีบริการใดจะใช้ ดีเซลบี7 เป็นฐานก็เลือกได้" นายศิริ กล่าว


ส่วนกรณีสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) มีความกังวลต่อมาตรฐานบี100 ซึ่งต้องการให้มีความบริสุทธิ์มากกว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ ที่จะต้องต่ำกว่า 0.4% โดยน้ำหนักนั้น จำเป็นต้องมีการหารือร่วมกับผู้ผลิต บี100 ในประเทศเพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว จากปัจจุบันที่มีผู้ผลิต บี100 บริสุทธิ์ได้เพียง 2 รายในประเทศ


ซึ่งรวมถึงบริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล (จีจีซี) คิดเป็นสัดส่วน 20-25% ของผู้ผลิต บี100 ทั้งประเทศ หากสามารถปรับมาตรฐานบี100 ให้มีความบริสุทธิ์สูงขึ้น จะทำให้เกิดการใช้ บี10 และมีโอกาสประกาศให้บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานได้ต่อไป จากปัจจุบันที่มีการใช้ บี7 เป็นน้ำมันดีเซลฐานอย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้มีการใช้ บี10 และบี20

รวมถึงการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เชื่อว่าจะทำให้เกิดการใช้ซีพีโอ ในภาคพลังงานเพิ่มจากระดับ 1.4 ล้านตันต่อปี เป็นระดับ 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 75% ของการผลิต ซีพีโอ ในปีนี้ที่อยู่ระดับประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นการดูดซับปริมาณ ซีพีโอ ออกจากตลาดและผลักดันให้ราคาผลปาล์มปรับตัวดีขึ้น


อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาผลปาล์มยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.95-2.3 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากระดับ 2.4 บาท/กก.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็หวังว่าการใช้ บี10 มีความต่อเนื่องก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้