ม.44 อุ้มค่ายมือถือยืดจ่ายคลื่น900 เปิดทางทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต

>>

นายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง ม.44 ช่วยเหลือ 3 ค่ายมือถือ ยืดจ่ายค่าคลื่น 900 แบ่งจ่าย10 งวด พร้อมช่วยทีวีดิจิทัล 22 ช่อง คืนใบอนุญาต ไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดที่เหลือ รวม 13,622 ล้านบาท และ กสทช.จ่ายค่า MUX ให้รวมปีละ 1,960 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสภาพปัญหาจากการแข่งขันทำธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาด้านความพร้อมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต อันส่งผลถึงความสามารถในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นยังคงอยู่


จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน700 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จี


ทั้งนี้สาระสำคัญของคำสั่งม.44ในส่วนของผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้น ทำให้ เอไอเอส ดีแทค และทรู ที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ไปก่อนหน้านี้ รวมวงเงินประมูลประมาณ 190,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จะได้รับความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมจ่าย 4 งวดเป็น 10 งวด หรือจากเดิมต้องจ่ายหมดในปี 2562 เป็นเอไอเอส และทรู จ่ายงวดสุดท้ายปี 2568 ขณะที่ดีแทค ซึ่งประมูลหลังสุด จ่ายงวดสุดท้ายปี 2570 เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินทุนมาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และรองรับการให้บริการ 5 จีในอนาคตอันใกล้ด้วย ซึ่งเงินค่าประมูลคลื่น 900 ดังกล่าว แยกเป็น กลุ่มทรู มูลค่า 76,298 ล้านบาท เอไอเอส 75,654 ล้านบาท และดีแทค 38,064 ล้านบาท


ขณะที่ในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้น ระบุว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการรายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับตามประกาศ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มีการชำระแล้ว


นอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกกิจการทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ไม่ต้องนำเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย คือ งวดที่ 5 และ 6 มาชำระให้กับ กสทช. ส่วนรายใดที่นำเงินมาชำระไปแล้ว ก็มาขอคืนได้ และรายใดที่ยังชำระงวดที่ 4 ไม่ครบตามจำนวน ก็ให้นำเงินมาชำระค่าประมูลให้ครบตามถ้วน และตามวันเวลาครบรอบการชำระค่าประมูล ซึ่งจะครบชำระในเดือน พ.ค.2562 นี้


สำหรับวงเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวด 5 และ 6 รวมเป็นเงิน 13,622 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) นั้น กสทช.จะช่วยสนับสนุนออกเงินค่าใช้จ่ายให้ โดยจะนำเงินไปชำระให้ผู้ประกอบการโครงข่าย คือ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินปีละ 1,960 ล้านบาท จนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต