BANPU กำลังปรับกลยุทธ์ลดพึ่ง “ถ่านหิน”

>>

บริษัท บ้านปู จำกัด มหาชน จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายถ่านหินเบอร์ใหญ่ของไทยที่มีสัมปทานใน 4 ประเทศ ทั้งใน อินโดนีเซีย, จีน, ออสเตรเลีย, มองโกเลีย กำลังเผชิญความท้าทายคัญกับธุรกิจหลักคือ "ถ่านหิน"  ที่ทำมามากกว่า 35 ปี ด้วยกระแสของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสีเขียว(Green Energy)


 

เมื่อจับสัญญาณผู้เล่นในตลาดถ่านหินรายใหญ่อย่าง BANPU เริ่มเห็นการขยับปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ของตัวเองชัดเจน หลังจากในปีนี้ประกาศแผนการจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจภายในครั้งสำคัญ โดยแบ่งกลุ่มการทำธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตลาด การค้า โลจิสติกส์ และการจัดหาเชื้อเพลิง และสายส่ง) กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (โรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และจากพลังงานหมุนเวียน)  และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน) พร้อมทั้งรีแบรนด์ของบริษัทใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น


ยิ่งตอกย้ำถึงการปรับตัวของ BANPU เมื่อออกมาประกาศแผนธุรกิจปี 2562 และแผนธุรกิจในอีก 6 ปีข้างหน้าว่าในปี 2568 ตั้งเป้าจะมีสัดส่วนของแหล่งที่มาของ กำไรก่อน ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) โดยจากธุรกิจถ่านหินอยู่ที่ราว 45% ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 75% และปี 2563 อยู่ที่ 60%


การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน EBITDA ของ BANPU ในปี 2568 จะมีธุรกิจโรงไฟฟ้าทั่วไปอยู่ที่ราว 30% หลังจากบริษัทลูกคือ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BPP ซึ่งทำธุรกิจไฟฟ้าจะมีพอร์ตกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็นมากกว่า 4,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,869 เมกะวัตต์  ส่วนก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 10%, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ราว 15%


จากในปี 2563 จะมีสัดส่วนของแหล่งที่มาของ EBITDA ที่เหลือมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าทั่วไปอยู่ที่ราว 20%, ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 12%, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ราว 10% เปลี่ยนแปลงไปจากปี 61 จะมีสัดส่วนของแหล่งที่มาของ EBITDA ธุรกิจโรงไฟฟ้าทั่วไปอยู่ที่ราว และก๊าซธรรมชาติรวมกันอยู่ที่ 25%

 

 

คงเกิดคำถามว่าทำไม BANPU ต้องตั้งเป้าหมายจะลดสัดส่วน EBITDA ในธุรกิจถ่านหินต่ำกว่าเหลือครึ่งหนึ่งกลุ่มธุรกิจซึ่งดำเนินมาช้านาน


กลับไปดูปริมาณขายถ่านหินของ BANPU จากแหล่งเหมืองถ่านหินหลักที่มีสัมปทานใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย, จีน จะเห็นว่ามียออดขายในช่วง  3 ปีมีขายที่ค่อนข้างทรงตัวหรือโตขึ้นเพียงเล็กน้อย ปี 2559 มียอดขาย 45.70 ล้านตัน ปี 2561 มียอดขาย 45.40 ล้านตัน และปี 2562 ตั้งยอดขายไว้ที่ 48.10 ล้านตัน อีกข้อมูลที่บอกว่าการใช้ถ่านหินของโลกกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก


เมื่อปี 2559 สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา หรือ US Energy Information Administration: EIA รายงานโดยคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ถ่านหินของโลกในระหว่างปี 2558-2583 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 0.2% ต่อเท่านั้นหรือได้ว่าแทบไม่ได้มีการเติบโตเลย ขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างกลุ่ม OECD หรือยูโรโซน กลับมีความต้องการใช้ถ่านหินเติบโตเฉลี่ยติดลบ แต่โลกจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 28% ในระหว่างปี 2558-2583 ขณะพลังงานที่มีความต้องการใช้เติบโตมากที่สุดจนถึงปี 2583 คือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีอัตราการเติบโตถึง 43%


ก้าวการขยับสำคัญของ BANPU จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ได้ประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ โดยได้ลงทุนในนกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนด้วยการถือหุ้นในสัดส่วน 29.4% ในสินทรัพย์ Chaffee Corners Joint Exploration Agreement (JEA)ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีแหล่งผลิตอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่ง Marcellus Shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าการลงทุน 109.53 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแหล่ง Marcellus เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของทั่วโลกด้วย
       

ปี 2560 ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอีก 4 ดีล โดยเข้าซื้อสิทธิการได้รับผลประโยชน์ในสัดส่วน 10.24% ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus Shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 63 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้ลงทุนเพิ่มในแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus Shale นี้ (NEPA CORNERS-II) เพิ่มขึ้นเป็น 12.8% โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มจำนวน 15.8 ล้านเหรียญสหรัฐ


ช่วงปลายปี 2560 ได้เข้าซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus Shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าการลงทุนจำนวน 210 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus Shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (NEPA CORNERS-V)   โดยในครั้งนี้เป็นการเข้าซื้อสัดส่วนและเป็นผู้ดำเนินการผลิต ที่มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 105 ล้านเหรียญสหรัฐ


สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐเริ่มผลิดอกออกผลปี 2560 ทำให้ EBITDA ให้กับ BANPU จำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2561 เพิ่มเป็น 101 ล้านเหรียญสหรัฐ และแน่นอนว่าในปีนี้จะต้องมี EBITDA เติบโตขึ้น

 

ขณะที่ในช่วงปี 2562-2563 BANPU ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 835 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแบ่งมาใช้ลงทุนขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติมากที่สุดจำนวนถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ธุรกิจถ่านหินแบ่งใช้เงินลงทุนที่ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน
       

ขณะปลายปี 2559 ส่ง BPP เรือธงในธุรกิจไฟฟ้าขายไอพีโอระดมทุนมูลค่ากว่า 13,600  ล้านบาท เข้าจดทะเบียนใน SET แน่นอนว่าการเข้ามาใช้เครื่องมือการเงินในตลาดทุนจะเป็นอีกแหล่งเงินทุนที่สำคัญในธุรกิจไฟฟ้าให้ทำ EBITDA บรรลุเป้าหมายในปี 2568   
     

ด้านผลงานของ BPP ออกมาค่อนข้างดีโดยปี 2559 มีกำไรสุทธิ 4,138.13 ล้านบาท มีรายได้ 9,813.83  ล้านบาท ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 4,154.63 ล้านบาท มีรายได้ 10,842.88 ล้านบาท  ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 3,812.67 ล้านบาท มีรายได้ 11,554.73 ล้านบาท
     

ด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เคยประกาศไว้ กับแผนธุรกิจที่กำลังเดินมาข้างต้น รวมถึงการกระจายขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อลดการพึ่งพากำไรจากธุรกิจหลักถ่านหินที่เคยเป็นฐานหลัก ทำให้วันนี้ BANPU ยังมีความสามารถในการทำกำไรให้เติบโตมากกว่าภาพรวของธุรกิจถ่านหินสะท้อนจากกำไรช่วง 3 ปียังเติบโตได้ดี โดยปี 2559 มีกำไรสุทธิ1,677.12 ล้านบาท ปี 2560 มีกำไรสุทธิ  7,900.24 ล้านบาท และปี 2561 มีกำไรสุทธิ  6,693.73 ซึ่งลดลงจากการบันทึกค่าใช้จ่ายรายการพิเศษจำนวน 2,700 ล้านบาทที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เพราะแพ้คดีความโรงไฟฟ้าหงสาและเหมืองถ่านหิน หากบวกกลับกำไรยังคงเติบโต