ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการ ADAM และพวก รวม 8 ราย กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่

>>

Hightlight

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM กับพวกรวม 8 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ 
  •  กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการให้ ADAMเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท สิราลัย จำกัด)จนเป็นเหตุให้ ADAM ได้รับความเสียหาย  
  • ตามประกาศก.ล.ต.จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี     

 

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM กับพวกรวม 8 ราย ได้แก่

  • นายบุญเปี่ยม เอี่ยมรุ่งโรจน์ (ประธานกรรมการบริษัท ADAM ในช่วงเกิดเหตุ)
  • นายชินวัฒน์  ชินแสงอร่าม (กรรมการ ADAM ในช่วงเกิดเหตุ)
  • นายสราวุฒิ ภูมิถาวร (กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของ ADAM ในช่วงเกิดเหตุ) 

    และพวกอีก 5 ราย ได้แก่

  • นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา
  • นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
  • นางสาวบงกร จันทร์สกุลพร (หรือชื่อขณะเกิดเหตุ นางสาวธันยพร)
  • นายสรวิศ จันทร์สกุลพร
  • นางสุดา คุณจักร 


กรณีร่วมกันกระทำผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ ADAM เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (บจ. กีธา) ในปี 2557 เข้ามาเป็นบริษัทย่อยของ ADAM โดยทุจริต ทั้งที่ทราบว่าในระหว่างนั้น บจ.กีธาเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนดำเนินคดี กรณีสงสัยว่าร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟอกเงิน

 

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้ ADAM ได้รับความเสียหาย โดยกลุ่มครอบครัวจันทร์สกุลพร ซึ่งประกอบด้วยนายอภิชาติ นางสาวบงกร และนายสรวิศ ได้รับประโยชน์จากการใช้กระบวนการกลไกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเปลี่ยนถ่ายผู้เป็นเจ้าของของบจ.กีธา จากเจ้าของเดิมคือ กลุ่มครอบครัวจันทร์สกุลพร มาเป็น ADAM ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีประชาชนทั่วไปเป็นผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกันกลุ่มครอบครัวจันทร์สกุลพร ก็ได้เปลี่ยนสภาพของทรัพย์สินซึ่งคือหุ้นของบจ.กีธา เป็นหุ้น ADAM ซึ่งมีสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน โดยมีการวางแผนการอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงการใช้อำนาจของคณะกรรมการบริษัทในการลงนามในสัญญาจะซื้อหุ้นบจ.กีธา ขณะเดียวกันได้ใช้บัญชีนอมินีเข้าซื้อหุ้น ADAM เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงข้างมากในการครอบงำกิจการของบริษัท และใช้สิทธิในการเพิ่มวาระในวันที่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และเห็นชอบให้ซื้อหุ้นดังกล่าว ทำให้สัญญาจะซื้อหุ้นดังกล่าวมีผลผูกพันทันที

 

การกระทำของอดีตกรรมการ ADAM และพวกรวม 8 ราย ข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 307 และ มาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยมีบุคคลให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำผิด เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 307 และมาตรา 311 ประกอบมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ได้ร่วมกันควบคุมและหรือใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยเป็นผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง  รวมถึงเข้าซื้อและถือครองหลักทรัพย์ ADAM  ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินร้อยละ 5 และรวมกันถึงร้อยละ 25 ขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ โดยไม่ได้รายงานและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด


ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 8 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

 

อนึ่งการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ