สำหรับข่าวแบงก์เตรียมเก็บภาษี “ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์” วันนี้ Wealthy Thai จะสรุปให้ฟังง่ายๆ เป็นข้อๆ ดังนี้
- ที่ผ่านมา หากดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีไม่เกิน 4 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว
- แต่มีปัญหาเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี โดยการ “กระจายบัญชี” ด้วยการปิดบัญชีที่มีดอกเบี้ยใกล้ถึง 20,000 บาท แล้วเปิดใหม่แทน เพื่อไม่ให้เงินเกินตามที่กฎหมายกำหนด
- กรมสรรพากรเลยอยากแก้ปัญหานี้ จึงออกเป็นโซลูชั่นที่เป็นข่าววันนี้คือ จ่ายดอกเบี้ย 15% ทันที สำหรับคนที่มีดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากดังกล่าว
ถามว่าทำไมถึงไม่ต้องตกใจ!
กรณีที่เกิดขึ้น โมเดลเหมือนการเก็บภาษีที่ดินและที่อยู่อาศัยคือ บ้านคุณจะต้องมีราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ถึงจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาล เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่ารายย่อยอย่างเราๆ ไม่ต้องตกใจไป ก็เพราะว่า
- หากไม่ได้มีเงินฝากเยอะ +ไม่ได้กระจายบัญชี เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี ก็แค่แจ้งข้อมูลให้กรมสรรพากรรู้
- เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันมานาน เพื่อ “เก็บภาษีให้ครอบคลุม” เฉยๆ นะ ไม่ได้ต้องการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
- และหากเงิน **ทุกบัญชีรวมกัน ไม่ถึง 20,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว
- มีผล 15 พฤษภาคม 2562
คนไทยเก็บเงินไว้ไหนบ้าง
คนไทยเลือกเก็บเงินออมโดยเก็บเป็น ‘เงินสด’ สูงสุดถึง 75.5% รองลงมาคือเก็บเงินใน ‘บัญชีเงินฝาก’ 53.9% มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพียง 3.2% เท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีครัวเรือนที่ไม่ได้มีการออมอย่างจริงจังอีก 18.0%
ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66.4 ล้านคน มี ‘บัญชีเงินฝาก’ ธนาคาร 99.88 ล้านบัญชี หรือมีจำนวนบัญชีเงินฝากเป็น 150.33% ของประชากรไทย จะเรียกว่า...คนไทยทุกคนล้วนมีบัญชีเงินฝากก็คงไม่ผิดนัก
คนไทยยัง ‘ขาดวัฒนธรรมการลงทุน’ และยังคุ้นชินกับ ‘วัฒนธรรมการออม’ ในเงินฝากแบงก์เป็นหลัก ส่วนที่ขยับไปสู่ ‘สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset)’ ถือว่ายังน้อยมาก
ให้หลังเพียง 10 ปี ณ สิ้นปี 2018 ‘เงินฝากออมทรัพย์’ มีเม็ดเงินรวมกัน 7.91 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.49% ของเงินฝากทั้งระบบ ในขณะที่ ‘เงินฝากประจำ’ มีขนาด 5.17 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 37.58% ของเงินฝากทั้งระบบ
“เงินฝากออมทรัพย์” ในช่วงปี 2008-2018 โตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 11.00% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของเงินฝากทั้งระบบที่โตเฉลี่ย 6.76% ต่อปี และสูงกว่าการเติบโตของ “เงินฝากประจำ” ในช่วงเวลาเดียวกันที่โตเฉลี่ยเพียง 2.48% ต่อปีเท่านั้น สะท้อนว่า...คนไทยส่วนใหญ่ยังคงนิยมชมชอบการฝากเงินไว้กับแบงก์ ที่สำคัญยังเป็น ‘เงินฝากออมทรัพย์’ เสียด้วย จะโดย ‘ตั้งใจ’ หรือ ‘ไม่ตั้งใจ’ ก็ตาม
รวบรวมข้อมูลจากงานเขียนของสรวิศ อิ่มบำรุง
และ CFP จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย