กระตุ้นศก.กระสุนด้าน ทรุดหนักลากยาวทั้งปี

>>

มาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปีที่รัฐบาลออกมาเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม 0.1% น่าจะเป็นกระสุนด้านเหมือนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้นปีที่รัฐบาลออกมาแล้วไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่า 4%


ในที่สุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดก็ได้ไฟเขียวมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ

  • ส่วนแรกเป็นมาตรการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้พิการ เกษตรกร รวมถึงการลดภาระพ่อแม่ในช่วงเปิดเทอมวงเงิน 1.32 หมื่นล้านบาท
  • ส่วนที่สองเป็นมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมซื้อสินค้า OTOP มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัย คาดว่าจะสูญเสียเงินภาษี 7,000 ล้านบาท


กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม 0.1% ช่วยให้เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัวขยายตัวเพิ่มขึ้น จากที่ล่าสุดกระทรวงการคลังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 จาก 4% เหลือ 3.8% เพราะผลระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอ และปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้


เมื่อเห็นสัญญาณชะลอตัวดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจให้ ครม. เห็นชอบทันที เพราะเห็นว่าหากไม่เร่งดำเนินการ ปล่อยให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากไปกว่านี้ การใช้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจจะต้องใช้มากขึ้น และมาตรการที่ออกมาอาจจะไม่ได้ผลกว่าตอนที่เศรษฐกิจยังทรุดไม่มาก


อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลออกมา เมื่อพิจารณาแล้วอาจจะไม่ได้ผลตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ เพราะจำนวนเงินน้อยเกินไป และมาตรการทั้ง 2 ส่วน มีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการใช้จำนวนมาก จนทำให้มาตรการไม่ออกผล

เดิมกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรพยุงชนิดยาแรง คือ การแจกเงินให้ประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1,500 บาท ไปใช้จับจ่ายท่องเที่ยวผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในร้านที่ขายสินค้าและบริการในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองทั่วประเทศ


มาตรการดังกล่าวคาดว่า จะมีคนเข้าร่วม 10 ล้านคน เป็นวงเงินใช้ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็ว และกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เร็ว


แต่มาตรการดังกล่าวถูกโจมตีจากสังคมอย่างมาก เป็นประเด็นร้อนทางการเมือง จนรัฐบาลยอมถอย และปรับมาตรการออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาใหม่อย่างที่เห็น ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริงไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท ตามที่รัฐบาลคาดไว้


เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้เพิ่ม 0.1% จากมาตรการดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ยากไปด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 เหลือ 3.7%


ธนาคารโลกลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 3.8% ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจลงลึกถึง 3.6%


ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3.8% ที่ประมาณการไว้เดิม และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเริ่มมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะลงลึกไปถึง 3.5%


ทุกสำนักทางเศรษฐกิจให้เหตุผลเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากจากเศรษฐกิจโลกผันผวน พิษสงครามการค้ากระทบการส่งออกรุนแรง และปัญหาการเมืองที่ตั้งรัฐบาลได้ช้า กระทบการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศเกิดการชะงัก


สัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นมาตั้งแต่ปลายปี 2561 เพราะมีการประกาศการเลือกตั้งในเดือนมี.ค. 2562 ซึ่งการเลือกตั้งเป็นผลดีทางการเมือง แต่เป็นผลร้ายทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนรัฐบาลใหม่


รัฐบาลก็เห็นปัญหาและได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในต้นปี 2562 ทั้งมาตรการช็อปช่วยชาติลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท แต่ซื้อสินค้าได้แค่ยางรถยนต์ สินค้าโอท็อป และหนังสือ รวมถึงมาตรการแจกเงินเพิ่มให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มจำนวนกว่าหมื่นล้านบาทเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้เห็นแล้วว่ามาตรการที่ออกมาไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ยืนขยายตัวเหนือ 4% ตามที่รัฐบาลต้องการ เพราะมาตรการที่ออกมาเหมือนการให้ยาที่อ่อนและน้อยเกินไป ทำให้รักษาไข้ไม่หาย


สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีที่ออกมาล่าสุด ก็มีแนวโน้มเหมือนกับมาตรการต้นปีที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจดีขึ้นหรือทรงตัวอยู่ได้ แต่จะชะลอตัวเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะมาตรการที่ออกมาเหมือนยาหมดอายุ และคนไข้เกิดการดื้อยา


ล่าสุด ครม. เห็นชอบเลื่อนการพิจารณางบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท อออกไปไม่มีกำหนด เพื่อให้ ครม. ของรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา ยิ่งกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนมากขึ้น


สำนักเศรษฐกิจต่างๆ จึงมองว่าปัญหาเก่าแก้ไม่ตก ปัญหาใหม่ก็เข้ามาซ้ำเติมความเชื่อมั่น โดยตอนนี้ปัจจัยการเมืองภายในประเทศเรื่องการตั้งรัฐบาลช้าถูกจับตามองเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ


หากตั้งรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศไม่ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2562 คาดว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นกระสุนด้านเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลากยาวทั้งปีขยายตัวได้ไม่ถึง 3.5% ก็มีความเป็นไปได้สูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามที่บางสำนักเศรษฐกิจเริ่มคาดการณ์ไว้แต่ยังไม่กล้าบอกออกมาเป็นทางการ


ที่มา : รายงานวิเคราะห์...โดยทีมข่าวการเงิน