เปิดวิสัยทัศน์ "อริยะ พนมยงค์" กับภารกิจพลิกฟื้น BEC

>>

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เกิดการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ หลังแจ้งว่า "อริยะ พนมยงค์" จะเข้ามารับตำแหน่ง "กรรมการอำนวยการ" (President) คนใหม่โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2562 นี้เป็นต้นไป ถือเป็นการดึงมาช่วยกอบกู้วิกฤตสงครามทีวีดิจิทัลที่กำลังสู้กันอย่างดุเดือดกับผู้เล่นที่มีจำนวนถึง 25 ช่อง จนทำให้ผลประกอบของ BEC ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 330.18 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปี จากในอดีตที่เคยทำกำไรสูงถึงหลักหลายพันล้านบาทต่อปี จนถึงขั้นที่ "สมชัย บุญนำศิริ" ประธานคณะกรรมการ และกรรมการอิสระของ  BEC ต้องกล่าวคำขอโทษกับผู้ถือหุ้นกับผลการขาดทุนที่เกิดกลางงาน “การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นสามัญ ประจำปี 2562” ที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา



โดยเมื่อกลับไปดูข้อมูล 4 ปีย้อนหลังของ BEC จะพบว่ากำไรเป็นกราฟขาลงมาโดยตลอด หลังการเกิดของทีวีดิจิทัล

  • ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 2,982.71 ล้านบาท
  • ปี 2559 กำไรสุทธิ   1,218.29 ล้านบาท
  • ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 61.01 ล้านบาท
  • ปี 2561 พลิกขาดทุน 330.18 ล้านบาท



สอดคล้องกับรายได้ที่เป็นช่วงขาลง 

  • ปี 2558 มีรายได้ 16,017.91 ล้านบาท
  • ปี 2559 มีรายได้ 12,534.57 ล้านบาท
  • ปี 2560 มีรายได้  11,226.06 ล้านบาท
  • ปี 2561 มีรายได้ 10,504.09 ล้านบาท



ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่แตกต่างจากเพื่อนๆ หลายเจ้าในอุตสาหกรรมที่สื่อทีวีดิจิทัลในตลาดหลักทรัพย์ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน


ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูประวัติเส้นทางการทำงาน President ปัจจุบันวัย 45 ปีคนนี้ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์กรชั้นนำหลายแห่งของไทยและเคยตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการพาณิชย์คอนเวอร์เจนซ์ (Chief Commercial Officer) ของกลุ่มทรู จนปี 2554 ในวัย 37 ปี 


อีกทั้ง เคยดำรงตำแหน่ง Country Head คนแรกของ Google Thailand และก่อนที่จะมาร่วมงานกับ BEC ล่าสุดยังเคยอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนแรกของ LINE ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 รับผิดชอบดูแลในด้านกลยุทธ์การตลาดและการพัฒนาธุรกิจของ LINE ในประเทศไทย จนทำให้ LINE ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดประเทศไทย ด้วยเครดิตและประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาดังกล่าวจึงไม่ได้มีข้อสงสัยว่าทำไมถูกเลือกมารับตำแหน่งเบอร์หนึ่งของ BEC


สิ่งที่สร้างความสนใจต่อผู้ถือหุ้นของ BEC อย่างมากคือ การปรากฎตัวของ "อริยะ พนมยงค์" ครั้งแรกในฐานะ President และบอร์ดคนใหม่ที่เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นการเข้าทำงานรับตำแหน่งใหม่ President ของ BEC ก่อนกำหนดเดิม  


การมาของ "อริยะ" ครั้งนี้เปรียบเหมือนการ "เปลี่ยนม้ากลางศึก" ของ BEC ในสงครามของทีวีดิจิทัล คำถามต่อมาคือ กรรมการผู้อำนวยการ คนใหม่จะเข้ามากอบกู้หรือปรับกลยุทธ์อย่างไรกับการพึ่งพิงแหล่งรายได้หลักจากจากธุรกิจโฆษณาที่เป็นฐานรายได้หลักสัดส่วนสูงถึง 85.6% ของรายได้รวมถึงเริ่มถดถอยลงมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2558 


ขณะที่ในปีนี้เอง BEC ตั้งเป้าหมายจะกลับมามีกำไร พร้อมกับมีความคาดหวังว่าจะกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ "อริยะ พนมยงค์" แสดงวิสัยทัศน์ (Vision) หลังจากมารับตำแหน่งเพียง 1 สัปดาห์ว่าอยู่ระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยรายละเอียดของแผนทั้งหมดสรุปออกมาได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้  เบื้องต้นของแผนระยะสั้นมีเรื่องที่จะทำ มีดังนี้


มาตรการแรกคือ การเพิ่มรายได้จากช่องทางของกลุ่มตลาดออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 13% ของเม็ดเงินสื่อโฆษณาในประเทศไทยที่มีมูลค่าเม็ดเงินโฆษณารวมที่ประมาณ 1.10 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งทำได้ไม่ยากเพราะปัจจุบันผู้ชมละครของของช่อง 3 ไม่ได้ดูผ่านทีวีเท่านั้น แต่ยังมีฐานกลุ่มผู้ชมละครของช่อง 3 อีกเป็นจำนวนมากที่รับชมผ่านช่องทางออนไลน์


แต่ในวันนี้ยังไม่มีวิธีการคำนวณกลุ่มฐานผู้ชมในกลุ่มที่ชมผ่านทีวีกับชมผ่านออนไลน์มารวมกันว่าจะมีกลุ่มผู้ชมจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งหากคำนวณออกได้จริง อริยะเชื่อว่าจำนวนฐานผู้ชมของช่อง 3 ไม่ได้ลดลงแน่นอน แต่ปัจจุบันการวัดจำนวนผู้ชมทำผ่านเรตติ้งทีวีเพียงเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้ชมที่นับออกมาได้น่าจะเป็นเพียงสัดส่วนครึ่งหนึ่งของผู้ชมทั้งหมดที่มีซึ่งในตลาดออนไลน์ 


ปัจจุบันรายได้จากช่องทางออนไลน์ของบริษัทยังมีสัดส่วนไม่สูงเพราะเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ในปี 2561 ที่มาจากช่องทางออนไลน์ของบริษัทที่มีอยู่เพียงประมาณ 350 ล้านบาท จากรายได้รวมที่มี 10,504.09 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่บริษัทจะสร้างรายได้จากช่องทางนี้

 

สรุปแผนระยะสั้น


มาตรการที่สองคือ การช่วยให้ลูกค้าหรือแบรนด์สินค้าที่มาลงโฆษณากับบริษัทให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาย้ายมาช่องทางนี้ เพราะสามารถทำการสื่อสารกับลูกค้าได้ตรงมากขึ้นซึ่งบริษัทมีช่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่บริษัทต้องทำสินค้าและบริการให้เป็นแพ็คเกจมากขึ้น ไม่ใช่แค่การขายเวลาโฆษณาเพียงอย่างเดียวแต่จะเข้าไปช่วย ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปช่วยจัดอีเวนท์ให้ด้วยเป็นการเสริมการขายของบริษัท

สำหรับแผนกลยุทธ์ในระยะยาวมีแผนจะขยายตลาดออกไปในตลาดต่างประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการคอนเทนต์ เพื่อเพิ่มรายได้จากการขายสิทธิ์คอนเทนต์ให้กับต่างประเทศมากขึ้น และขยายฐานผู้ชมเพื่อให้เป็น OTT (Over-The-Top) ซึ่งมีโอกกาสสูง ยกตัวอย่างในปี 2561 ที่ผ่านมา Netflix ใช้เงินลงทุนซื้อคอนเทนต์จากทั่วโลกไปสูงถึงประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทยอยคุยกับเจ้าของแฟลตฟอร์มระดับโลกที่มีความสนใจคอนเทนต์ของบริษัทไปแล้วจำนวนหลายราย 


แม้ในตลาดนี้จะเห็นการแข่งขันที่สูงของผู้เล่นหลายราย แต่สำหรับ BEC ถือเป็นโอกาสเพราะแพลตฟอร์เหล่านี้ต่างต้องการซื้อคอนเทนต์เพื่อใช้ต่อ โดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีโอกาสที่สูงมากเพราะนิยมละครจากไทย และไม่นิยมเนื้อหารายการทีวีคอนเทนต์จากเกาหลี


เรื่องสุดท้ายที่มีแนวคิดจะสร้างอนาคตของ BEC คือ การสร้างธุรกิจบริการใหม่ๆ หรือ Business Model ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการบ้านที่ต้องใช้เวลาทำ

แผนระยะยาว

ขณะที่ตลาดเม็ดเงินโฆษณาตลาดประเทศไทยปัจจุบันยังอยู่ในสื่อทีวีในสัดส่วนประมาณ 60% ดังนั้นด้วยขนาดที่มีเม็ดเงินขนาดใหญ่ที่อยู่ในทีวี แม้จะเห็นการเริ่มหดตัวลงของเม็ดเงินที่จะใช้ผ่านสื่อทีวี แต่ก็ยังไม่ได้หายทันที ดังนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการกอบกู้เม็ดเงินโฆษณาให้กลับมาที่บริษัทให้ได้


หลังฟังวิสัยทัศน์ของ President ของ BEC ไปแล้วจากนี้คงต้องจับตาต่อไปว่าช่อง 3 จะสามารถกลับมาสร้างกำไรที่โดดเด่นเช่นในอดีตก่อนยุคทีวีดิจิทัลหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ไปล่วงหน้าแล้วคือราคาหุ้นของ BEC ซึ่งปัจจุบันวิ่งทะลุเป้าหมายที่โบรกเกอร์หลายค่ายไปแล้ว 

 

ความเห็นโบรกเกอร์ มีดังนี้

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี : BEC แนะนำขาย ราคาเป้าหมาย 7.30 บาท กสทช.จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลส่งคืนใบอนุญาต คาดว่าใบอนุญาตสำหรับ 4 ช่องจะถูกส่งคืนรวมถึงช่องทางช่องของ BEC คาดหวังเพียง 1.7% ของค่าใช้จ่ายในการโฆษณาทั้งหมดจากช่องที่ปิดตัวไปจะกระจายไปในช่องที่ยังคงอยู่ เราคาดว่าอัตราการขายโฆษณาของ BEC จะเพิ่มขึ้น 1.5% จะช่วยเพิ่ม Core EPS ปี 2563-2562 ที่ 132-202% เนื่องจากค่าธรรมเนียมการออกอากาศที่ลดลง อย่างไรก็ตามเราปรับคำแนะนำลงเนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


บล.บัวหลวง : แนะนำ`ซื้อเก็งกำไร` BEC เป้าหมายพื้นฐาน 7.25 บาท หลังจากหลายปีที่ยากลำบาก คาดว่า BEC จะกลับยืนได้อีกครั้งในไตรมาส 2/62 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของรายได้และการลดต้นทุนและการขยายธุรกิจใหม่ แม้ว่าแนวโน้มในระยะสั้นยังคงถูกดดันจากกำไรไตรมาส 1/62 ที่อ่อนแอ เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมโฆษณาที่อ่อนตัว แต่ข่าวดีต่างๆ (ทั้งการเยียวยาจากกสทช. และละครดังเรื่องใหม่) จะหนุนให้ราคาหุ้น BEC ปรับตัวขึ้นต่อไปได้