“ทิศทางการลงทุน”…ไตรมาสที่ 2/2019

>>

อาจกล่าวได้ว่าปี2018 น่าจะเป็นหนึ่งในปีที่นักลงทุนไม่อยากจดจำมากที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากหากดูบทสรุปผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดทั้งปี แทบจะไม่มีสินทรัพย์ใดเลยที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก คงมีก็แต่ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, REITs หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบางตัวเท่านั้น โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สภาวะการลงทุนในปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง สามารถสรุปเป็นปัจจัยหลักๆ ได้ 2 ปัจจัย ได้แก่

  1. การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าตึงตัวมาตรการทางการเงินอย่างต่อเนื่องผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณการเร่งตัวในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากการขึ้นดอกเบี้ยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจดีเพียงอย่างเดียว ตลาดการเงินโดยเพราะตลาดหุ้นก็น่าจะดีไปด้วยจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการขยายตัวสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ด้วยเพราะปัจจัยต่อมา นั่นก็คือ
  2. ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งตลอดปีมีแนวโน้มที่จะตกลงกันไม่ได้ จนมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า (tariff) รอบที่ 1 ไปแล้ว และ รอบที่ 2 ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความกังวลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าชะลอตัวลงในปีถัดๆ มา จนทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4/2018 ที่ผ่านมา


อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปี 2019 ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวดูเหมือนจะมี พัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการส่งสัญญาณชะลอมาตรการทางการเงินแบบตึงตัวและอาจพิจารณาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันแนวโน้มการเจรจาด้านประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ดูมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลังจากเส้นตายการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 2 ถูกเลื่อนออกไป และคาดว่าการเจรจาก็ใกล้บรรลุข้อตกลงในไม่ช้านี้


“จากปัจจัยดังกล่าวนั่นก็เพียงพอต่อการดีดตัวกลับของราคาสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งในบางประเทศ ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี สามารถปรับตัวเป็นบวกได้ชดเชยกับผลขาดทุนตลอดปี 2018 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน”


สิ่งที่กำลังจะบอกผู้อ่านจากปรากฏการณ์ที่กล่าวมา สรุปได้ว่า หากท่านเป็นนักลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวพอ และมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดความผันผวนในระยะสั้น และสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีในระยะยาวได้ ตรงกันข้ามกับนักลงทุนระยะสั้นที่ลงทุนตามอารมณ์ตลาดก็มักจะพลาดโอกาสการลงทุนหลายๆ ครั้งไป


สำหรับมุมมองการลงทุนในช่วงที่เหลือของครึ่งปีแรก หากดูจากพัฒนาการเชิงบวกของปัจจัยภายนอก 2 ปัจจัยที่กล่าวมา ยังคงสนับสนุนให้ ‘สินทรัพย์เสี่ยง’ มีความน่าสนใจมากกว่าการลงทุนทั้งหมดที่อยู่ในรูปแบบของเงินฝาก หรือกองทุนตราสารหนี้ ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาวได้ ส่วนสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง (หุ้น) เท่าไหร่ที่นักลงทุนควรมีก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ยอมรับได้


สำหรับภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย นักวิเคราะห์หลายๆ สำนัก คาดว่าปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวที่ 3.5%-4.0% โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะยังคงมาจากการลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีจากปีก่อน ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สะท้อนสภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ซบเซาต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ด้วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป ทำให้คาดการณ์ว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีการขยายตัวได้ 7-10%โดยเฉลี่ย


โดยกลยุทธ์การลงทุนยังคงเน้นหุ้นที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศ เน้นหุ้นหรืออุตสาหกรรมที่แนวโน้มผลการดำเนินงานมีความชัดเจนและแน่นอนสูง อ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกในระดับต่ำ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก สาธารณูปโภค โรงพยาบาล และท่องเที่ยว แต่หากเป็นหุ้นที่จัดประเภทตามคุณลักษณะ ได้แก่ หุ้นปันผลสูง และ หุ้นคุณค่า ซึ่งการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้หุ้น 2 ประเภทที่กล่าวมาสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด


เช่นเดียวกันกับ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, REITS และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นอีกปีที่ได้รับความสนใจและมีผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ส่วนเพิ่มในการหาสินทรัพย์ทดแทนตราสารหนี้ที่มี yield ที่ต่ำในยุคปัจจุบัน


กล่าวโดยสรุป  นอกจากที่จะนำมุมมองดังกล่าวไปประกอบการตัดสินใจแล้ว ผู้ลงทุนควรประเมินความเสี่ยงของตนเอง และหมั่นทำการบ้านติดตามสภาวะการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ลงทุนเองในระยะยาวอีกด้วย 

 
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th

YOU MIGHT ALSO LIKE