ทำไม…ต้อง “วางแผนการลงทุน”?

>>

เชื่อไหมครับว่า หลายๆ คนยังมีความคิดที่ ไม่ถูกต้อง นักว่า แค่รู้จักหา รู้จักออม รู้จักใช้จ่าย ก็เพียงพอสำหรับการนำพาตัวเองให้บรรลุ เป้าหมายทางการเงิน ได้แล้ว ไม่เห็นจะต้องลงทุนเลย ลงทุนไปแล้วเดี๋ยวก็ขาดทุน เอาเงินไปเสี่ยงเปล่าๆ


แต่ในความเป็นจริงแล้ว องค์ประกอบพื้นฐานของเรื่องการเงินนอกเหนือจาก หาได้ เก็บออม และใช้เป็นแล้ว ยังมีเรื่องของการนำเงินไป ลงทุนต่อยอด ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยในที่นี้จะขอแจกแจงเหตุผลให้เข้าใจว่า ทำไมต้องวางแผนการลงทุนออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

  • ทำไมต้องวางแผน ลองพิจารณาตอบคำถามง่ายๆ นี้กันดูก่อนนะครับว่า ระหว่างคนที่มีการวางแผน กับคนที่ไม่เคยวางแผนเลย ใครมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่ากันเชื่อว่า ผู้อ่านคงตอบเหมือนกับคนส่วนใหญ่แน่ๆ ว่า ก็คนที่มีการวางแผนนะสิ ใช่ไหมครับ!

โดย การวางแผน (Planning)  หมายถึง กระบวนการคิดไตร่ตรองก่อนที่จะลงมือทำ โดยพิจารณาตัดสินใจไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า จะทำอะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ทำที่ไหน ทำไมต้องทำ และทำไปเพื่อใคร จะได้เลือกแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุด แล้วนำไปลงมือทำเพื่อให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่เราต้องการนั่นเอง


“จึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุผลที่ต้องมีการวางแผนก็เพื่อที่จะช่วยให้เราทราบถึงเป้าหมาย สิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็นในอนาคต ช่วยเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และกำหนดทิศทางให้รู้ว่า ต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดขึ้นนั้น”


นอกจากนี้ ยัง ช่วยลดข้อผิดพลาดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลา และลดความสิ้นเปลืองจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ลงได้ด้วย เปรียบเสมือนกับเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่คาดหวังไว้ ดังนั้น การวางแผนในการดำเนินชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าการใช้ชีวิตที่หละหลวมปราศจากการวางแผนอย่างแน่นอน

  • ทำไมต้องลงทุน หลายคนคิดว่า การหาได้จากการทำงานน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะเมื่อหาได้ ก็มีเงินไว้ใช้จ่าย ไม่ขัดสน แต่รายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องเพิ่มเวลาทำงานให้มากขึ้น หรือไม่ก็ต้องหาทางเพิ่มพูนทักษะความสามารถของตนเองให้เพิ่มขึ้น เหนื่อยมากขึ้น และถ้าวันดีคืนดีบริษัทที่เราทำงานอยู่เกิดเลิกกิจการลง หรือเกิดปัญหาเรื่องสุขภาพจนทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ รายได้ก็จะหายไปเลยในทันที

         
ดังนั้น การผูกติดชีวิตไว้กับรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียวจึงมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องสร้างรายได้จากหลายๆ ช่องทาง โดยการลงทุนถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นจากการใช้เงินทำงานแทนตัวเรา ซึ่งจะช่วยลดความไม่แน่นอนจากการขาดรายได้จากการทำงานในอนาคตลงได้ครับ”


นอกจากนี้ หลายคนคิดว่า แค่มี เงินออม เก็บไว้กับตนเองก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่เห็นต้องเสี่ยงกับการนำเงินไปลงทุนเลย ตรงนี้อยากให้ผู้อ่านลองหยิบธนบัตรใบละ 50 บาทขึ้นมา  และลองคิดย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วว่า เงินจำนวน 50 บาทนี้ สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวทานได้จำนวนมากชาม หรือน้อยชามกว่าในวันนี้


“เชื่อว่า คำตอบที่ได้รับ คือ เงินจำนวนดังกล่าวเมื่อ 10 ปีที่แล้วย่อมสามารถใช้ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้มากชามกว่าในวันนี้เป็นแน่ ทั้งนี้ก็เพราะผลกระทบจาก ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)’ ที่ราคาสินค้า หรือบริการโดยเฉลี่ยในท้องตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อำนาจซื้อของเราลดลง”


ดังนั้น การออมเงินเก็บไว้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเอาใส่ไหฝังดิน หรือเก็บซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ หรือแม้แต่หยอดกระปุก จึงมีแต่จะทำให้มูลค่าเงินออมดังกล่าวลดลงเรื่อยๆ เปรียบเสมือนกับเรือที่มีรอยรั่วซึมแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่หากยังไม่ได้รับการอุดรอยรั่วซึมดังกล่าว เมื่อน้ำซึมเข้าสู่เรืออย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ก็สามารถทำให้เรือล่ม หรือจมลงได้ในที่สุด


ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเก็บออมเงินในรูปของเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น แต่ทว่า การฝากเงิน ในยุคปัจจุบันนี้กลับให้ดอกเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้าง ต่ำมาก และหากเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละปีจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลตอบแทนสุทธิ ที่ได้รับจากการฝากเงินค่อนข้างต่ำมากๆ บางปีถึงกับติดลบก็มี การลงทุน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก อีกทั้งยังช่วยปกป้องมูลค่าของเงินที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อได้ดีกว่าด้วย


จึงสรุปได้ว่า “การวางแผนการลงทุน (Investment Planning)” เป็นที่สิ่งที่จำเป็น และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการวางแผนทางการเงินโดยรวม ซึ่งช่วยเตรียมความพร้อม และทำให้เรามีโอกาสในการ ‘บรรลุเป้าหมาย’ ในชีวิตได้อย่างรวดเร็วขึ้น และหากมีการวางแผนเป็นอย่างดี ก็ยังสามารถ ‘เพิ่มผลตอบแทน’ และ ‘ลดความเสี่ยง’ ที่อาจเกิดขึ้นลงได้อีกด้วยครับ