คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : ‘เจ้าสัวธนินท์’ ในวันที่ลงจากบัลลังก์มังกร

>>

ซีพีกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ในก้าวจังหวะเดียวกับที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เพิ่งลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ ซีพีเอฟ และซีพีออลล์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ห่างกันไม่ถึงเดือน


การเปลี่ยนผ่านธุรกิจซีพี นับวันจะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เมื่อบริษัทชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา


ในยุคสมัยหนึ่ง ซีพีเคยถูกล้อเลียนว่า จาก “พ่อค้าขายไข่” จะขยับไป “ประมูลโทรศัพท์พื้นฐาน” แล้วจะไหวเหรอ


มายุคสมัยนี้ จาก “ธุรกิจหลากหลายประเภท” (conglomerate) ซีพีกำลังดีดตัวเองไปทำ “ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่”


และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครกล้าล้อเลียนอีกแล้ว ยกเว้นแต่คำเหน็บพอเจ็บๆ คันๆ ว่า จะรวยไปถึงไหนกันนะ เท่านั้นเอง


การประกาศ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ของเจ้าสัวธนินท์ ในช่วงที่ธุรกิจเปลี่ยนหัวกระสุนจากธุรกิจปัจจัย 4 ไปหาเบอร์ที่ใหญ่ขึ้น ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชน


ถือเป็นช่วงเวลาที่สุกงอมกำลังดี สำหรับผู้บริหารจีเนียสวัย 80 ที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุ 19


การลาออกจากตำแหน่งประมุขสูงสุดของธุรกิจเรือธงในเครือซีพี ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 อาจถือได้ว่าเป็นการให้รางวัลตัวเอง ในช่วงใกล้วันเกิด 19 เมษายนของเจ้าสัวธนินท์


เพราะเป็นการ “วางมือ” กิจการอย่างเป็นทางการ และถ่ายอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ให้ลูกชายคนโต “สุภกิต” เข้ามารับช่วงตำแหน่งประมุข


โดยมีลูกชายคนที่ 2 “ณรงค์” รับตำแหน่งรองประธานกรรมการ และลูกชายคนที่ 3 “ศุภชัย” เป็นประธานคณะผู้บริหาร

จากซ้ายไปขวา : ศุภชัย, สุภกิต, ณรงค์ และธนินท์
(ขอบคุณรูปประกอบจาก ฟอร์บส ประเทศไทย)


ภาพการส่งไม้ต่อของซีพียุค 4.0 นี้ แทบไม่ผิดไปจากยุคที่เจ้าสัวธนินท์ในวัยละอ่อน เข้ามารับช่วงงานจากพี่ชายทั้งสองคน “มนตรี” และ “จรัญ” ที่ขยับไปดูโรงงาน และดูภาพรวมธุรกิจ


ในตอนนั้นที่เจ้าสัวธนินท์อายุ 30 เป็นช่วงที่ซีพีเปลี่ยนผ่านจาก “กิจการครอบครัว” ไปสู่ “องค์กรธุรกิจ” จากวิสัยทัศน์อันลึกซึ้งของเขา


และในตอนนี้ที่เจ้าสัวธนินท์อายุ 80 ซีพีก็กำลังเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจที่ลงทุนหลายประเภท conglomerate” ไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ mass transit” จากวิสัยทัศน์อันแยบคายของเขาเช่นกัน


ปีนี้ 4 พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์รุ่นที่ 2 (ธนินท์, สุเมธ, จรัญ และมนตรี) ยังคงครองอันดับ 1 จาก 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2562 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.95 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 9.41 แสนล้านบาท จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ประเทศไทย

จากซ้ายไปขวา : ธนินท์, จรัญ, มนตรี และสุเมธ
(รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต)


ลำพังทรัพย์สินของเจ้าสัวธนินท์เอง ก็รวยยืนหนึ่งมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยปีนี้เขามีมูลค่าทรัพย์สิน 15,200 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 300 ล้านดอลลาร์ มีพิกัดความมั่งคั่งอยู่ในอันดับที่ 75 ของโลก


การก้าวลงจากบัลลังก์มังกรของเจ้าสัวธนินท์ครั้งนี้ เป็นการถ่ายเทน้ำหนักจาก “การนำธุรกิจ” ไปเป็น “การนำคน” ภายใต้เบ้าหลอมใหญ่ของ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Leadership Institute) ที่เจ้าสัวธนินท์เป็นตัวตั้งตัวตีมาแต่แรก


“เจ้าสัวธนินท์ต้องการสร้างและพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ รองรับอนาคตธุรกิจในเครือซีพี รวมถึงการสนับสนุนให้คนไทยได้เป็นผู้นำระดับโลก” คนวงในบอกเล่ากับสื่อ


“นิตยสารผู้จัดการ”
เคยวิเคราะห์ถึง “เจียรวนนท์” ว่า เป็นตระกูลธุรกิจที่สะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถในการบริหารที่ยอดเยี่ยม และความมีจิตใจที่เป็นสากล (international-minded) ในการดำเนินธุรกิจ


ในวันที่เจ้าสัวธนินท์ตัดสินใจเดินลงจากบัลลังก์มังกร แล้วไปต่อในฐานะ executive coach จึงเป็นความสนุกสนานครั้งใหม่ของผู้นำที่รักจะทำงานทั้งชีวิต


“ลูกหลานอยากให้ผมหยุดทำงาน แต่ผมไม่อยากหยุด เพราะผมสนุกกับการทำงาน การทำงานคือการพักผ่อนสำหรับผม” เจ้าสัวธนินท์บอกกับสื่อ


ในวันที่โลกทั้งใบอยู่ที่ปลายนิ้ว เจ้าสัวธนินท์บอกว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ทุกเวลาคือการทำงาน และเราไม่จำเป็นต้องมาทำงานตามเวลา (อีกต่อไป)...