The Profile : CEO นักปั้นไอดอล “จิรัฐ บวรวัฒนะ”

>>

หากมองความสำเร็จของกลุ่มไอดอลไทยสัญชาติญี่ปุ่นในชื่อ BNK48” หลายคนอาจมองว่านี่คือความสำเร็จของเกิร์ลกรุ๊ปของวงการเพลงวงหนึ่งเท่านั้น แต่ตลอด 2 ปีที่ BNK48 เกิดขึ้นมาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่พลิกกระแสวงการสื่อของเมืองไทยที่มีแต่ขาลงมากมาย 


ตลาดแผ่นซีดีที่หมดยุดไปนาน แต่ซีดีเพลง 2 ซิงเกิลแรกของ BNK48 ขายได้มากกว่า 4 หมื่นแผ่น มูลค่ามากกว่า 15 ล้านบาท และขายได้เฉลี่ย 3 หมื่นแผ่นในทุกๆ ซิงเกิลต่อมา


แผงหนังสือที่เงียบเหงา แต่นิตยสารที่ขึ้นปก BNK48 บนแผงสยามสแควร์ ซอย 6 ขายได้เฉลี่ย 1,000 -2,000 เล่มต่อปก ขณะที่ปก ณเดช-ญาญ่า ขายได้หลักสิบเล่ม


คอนเสิร์ตที่เริ่มหาคนดูยากหากไม่ใช่ศิลปินเบอร์ใหญ่จริง แต่คอนเสิร์ตของ BNK 48 ที่เปิดการแสดง ณ เธียเตอร์ BNK48 เดอะมอลล์ บางกะปิ ทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ รอบละ 350 คน จำหน่ายบัตรหมดไปล่วงหน้า 2 ปี 


ทั้งหมด มาจากมันสมอง และวิธีคิดของ CEO หนุ่มวัย 39 ปี ต้อม- จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด  

 

ย้อนรอยเดินทาง


แม้จิรัฐจะเรียนจบมาด้านพาณิชยนาวี และได้ทำงานด้านการเดินเรืออยู่ในช่วง 3 ปีแรก แต่หลังจากนั้น การมีโอกาสได้ทำงานกับ EGV เชนโรงภาพยนตร์ยุคใหม่ในเวลานั้น ทำให้เขาได้เรียนรู้กับงานคอนเทนต์บันเทิงอย่างเต็มตัว ก่อนลาออกมาช่วยภรรยา โรส-อรพรรณ มนต์พิชิต ดำเนินธุรกิจโรสวิดีโอ 

 
( คุณจิรัฐ บวรวัฒนะ )


จิรัฐมองว่า คอนเทนต์หนัง การ์ตูน รวมถึงลิเก ที่โรสวิดีโอ มีอยู่สามารถขยายช่องทางหารายได้มากกว่าการขายออกเป็นวิดีโอ หรือซีดี ประกอบกับช่วงเวลานั้น เป็นยุครุ่งเรืองของช่องทีวีดาวเทียม เขาตัดสินใจเปิดช่องทีวีดาวเทียมในชื่อ “แก็งค์การ์ตูน” 


“เวลาผมทำอะไร ผมทำเต็มที่ เมื่อครั้งเปิดช่อง แก็งค์การ์ตูน ผมก็ทำเต็มที่ คนก็บอกไม่น่าจะเกิด เจ้าของลิขสิทธิ์ญี่ปุ่นก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำทีวีมาก่อน คนที่ฟังผมเล่าตั้งแต่ครั้งแรกก็ไม่เชื่อว่ามันจะเกิด แต่ถ้าถามว่าคนที่ต้อง Commit กับเงินลงทุน 30-40 ล้านบาท ก็ต้องเชื่อว่าเกิดได้”


จิรัฐประสบความสำเร็จในการยกระดับโรสวิดีโอ ขึ้นเป็น โรสมีเดีย แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่นำคอนเทนต์วิดีโอเดิมๆ กระจายออกไปหารายได้ทั้งจากทีวีดาวเทียม, ฟรีทีวี, เคเบิลทีวี, โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงการขายสินค้าที่ระลึก นำบริษัทวิดีโอที่เริ่มมีปัญหากับการล่มสลายของสื่อ Physical กลับมามีรายได้มั่นคง


ยิ่งไปกว่านั้น จิรัฐยังคิดไปถึงการนำ โรส มีเดียฯ เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพียงแต่คำถามเดียวที่จิรัฐยังหาคำตอบไม่ได้ คือ


“เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้ว โรสมีเดียฯ มีแผนในการต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร”


เพราะในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีตัวอย่างบริษัทวิดีโอที่ไม่สามารถต่อยอดหาธุรกิจใหม่ๆ ได้อยู่แล้ว นั่นคือ แมงป่อง


จิรัฐ ออกหาความท้าทายใหม่ๆ ด้วยการออกมาตั้งบริษัทเองในชื่อ Ignite Asia รับงานด้านอีเวนท์ ออร์กาไนเซอร์ รับพัฒนาแอพพลิเคชั่น และพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านอาหาร เป็นของตนเองในชื่อ Eatarie แม้จะมีงานเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ


“ผมไม่เหนื่อย สนุกมาตั้งแต่แรกทำด้วย Passion เมื่อตอนเริ่มจะไม่รู้ว่าไปได้ไกลแค่ไหน แต่ผมก็ทำเต็มที่ ถ้าติดก็ต้องปรับ Ignite Asia เป็นเหมือนหมาล่าเนื้อ เป็นอีเวนท์ ออร์กาไนเซอร์ ทุกคนทำเหมือนกันหมด เราได้งาน 200-300 ล้านบาท ก็ดีใจ แต่พรุ่งนี้เราต้องหางานใหม่ ผมจึงตัดสินใจเลิกเป็นออร์กาไนเซอร์”


จิรัฐหันกลับไปทำธุรกิจที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังเคยบินไปมาในสมัยที่ทำงานกับโรส มีเดียฯ ด้วยการทำโครงการประชาสัมพันธ์ให้กับเมืองต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้งบประมาณจากภาครัฐของญี่ปุ่น อาทิ โครงการ “999 PROJECT ‘Kyushu… แล้วพรุ่งนี้เราคงจะรู้กัน” นำ แดน วรเวช และ เอ๊ะ ละอองฟอง ไปใช้ชีวิตร้องเพลง ขายซีดี ในเมืองคิวชู 30 วัน รวมถึงการร่วมมือกับค่ายบันเทิงจากญี่ปุ่น เปิดค่ายเพลง Ignite Record


ช่วงเวลานี้เองทำให้จิรัฐมีโอกาสจับตามองการเกิดขึ้นของโมเดลการสร้างไอดอลของญี่ปุ่น ในชื่อ AKB48


เผยความสำเร็จของ BNK48


จิรัฐ เล่าว่า AKB48 เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 ในช่วง 2 ปีแรกไม่ได้รับความสนใจ แต่ก็ยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปี 2012 กลายเป็นปีที่รุ่งเรืองที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างวัฒนธรรมของการสู้ ความพยายามของทั้งองค์กร ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และสมาชิก สู้ไปด้วยกัน จนกลายเป็น DNA ของโมเดลนี้ ที่เรียกว่า “กันบาเตะ” แม้ปัจจุบัน ความนิยมของ AKB48 จะถดถอยลงบ้าง แต่ยอดขายซีดีก็ยังได้ถึงหลัก 3-5  ล้านแผนต่อ 1 ซิงเกิล


Model BNK 48 จิรัฐ เปรียบเทียบเหมือนสโมสรฟุตบอล ที่ต้องการค้นหาตัวจริงลงสนามในแต่ละนัด และมีตัวสำรอง BNK48 มีจำนวน 53คน มีซิงเกิลที่จะต้องออกทั้งหมด 4 ซิงเกิลต่อปี ในแต่ละซิงเกิลต้องการเพียง 16คน ที่จะไปเป็นผู้ถูกเลือก เป็นตัวจริงในสนาม หรือที่เรียกว่า “เซ็นบาสึ” ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนพื้นที่ในการแข่งขัน เป็นแมทช์สำคัญที่แต่ละปีจะมี 4 แมทช์ ที่ต้องชิงพื้นที่กัน


Core Business ของ BNK48 คือเรื่องราวของเด็กหญิงกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา เหมือนคนข้างบ้าน ไม่ได้สวยมาก แต่น่ารัก มีเสน่ห์ มีความพยายาม มีความมุ่งมั่น เด็กข้างบ้านที่หันไปเมื่อไหร่ ก็เห็นเขาฝึกอยู่ตลอดเวลา มีความพยายาม มุ่งมั่น ตั้งใจ 


กฎสำคัญของ BNK48 คือการห้ามมีแฟน ห้ามถ่ายภาพกับคนนอกครอบครัว ต้องทำหน้าที่สร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ และต้องฝึกฝนพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง


ขณะที่เงื่อนไขในการรับสปอนเซอร์สินค้า BNK48 จะไม่รับอาหารเสริม หรือซุปไก่ เพราะจิรัฐเชื่อว่า จะเป็นการทำลายแบรนด์ DNA ของ BNK48 ที่ว่าการสร้างทุกอย่างได้ด้วยความพยายาม ไม่มีทางลัดที่จะทำให้ตนเองดีขึ้น ไม่รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงชุดชั้นใน หรือการถ่ายวาบหวิว แม้ต้นแบบ AKB48 จะอนุญาตให้ทำได้ แต่จิรัฐจะไม่ให้เกิดขึ้นกับ BNK48


“เราต้องการสนับสนุน Core Value คือเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีความฝัน ความมุ่งมั่น ความพยายามที่อยากจะเป็นศิลปินจริงๆ วันนี้อาจจะยังไม่ใช่ ร้องไม่ได้เก่ง เต้นไม่ได้ดีมาก แต่มีความพยายาม ดังนั้นเรื่องราวมันจะจบถ้าเกิดเราคิดว่าเราสำเร็จ ผมบอกกับน้องๆ ทุกคน ว่าอย่าคิดว่าเราประสบความสำเร็จ ยังไม่สำเร็จเลย เราได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคม ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้ระบบแบบนี้ที่ไม่เคยมีมาก่อนมันถูก Register ในสังคมไทยได้แล้ว จากนี้หน้าที่ของเราคือทำไปเรื่อยๆ ให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ”

 

ความสำเร็จของ BNK48 เกิดจาก 3 องค์ประกอบสำคัญ

  1. คือสมาชิก BNK48 เป็นศูนย์กลาง 
  2. คือ แฟนคลับเป็นผู้สนับสนุน 
  3. ผู้ลงทุน และผู้ให้โอกาส หมายถึงจิรัฐ และโรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ 


สมาชิก BNK48 จำนวน 53คน ที่มีเรื่องราวชีวิต เส้นทางเดิน ความพยายาม และเป้าหมายชีวิตที่ต่างกัน คือ เสน่ห์ที่ดึงให้แฟนคลับ ซื้อซีดีเพื่อเข้ามาพบปะ พูดคุย จับมือ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และสนับสนุนผลงาน โดยมีผู้ลงทุนที่จะหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเปิดให้ BNK48 ได้มีช่องทางในการแสดงตัวตน ทั้งเพลง, ละคร, ภาพยนตร์, พรีเซนเตอร์, ฯลฯ


และไม่เพียงแต่แบรนด์สินค้าใหญ่ๆ อย่าง โตโยต้า, ซัมซุง, ทรูมูฟ, แลคตาซอย, ฟูจิ, ฯลฯ จะแห่จับจองมาใช้บริการสาวๆ BNK48 ให้เป็นพรีเซนเตอร์ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว บริษัทใหญ่ธุรกิจสื่อนอกบ้านในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่าง แพลน บี มีเดีย ยังเทเงิน 182 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้นใน บริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด บริษัทที่จิรัฐตั้งขึ้นเพื่อบริหารงานของ BNK48  

 ( ขอบคุณรูปภาพจาก facebook Plan B )

 

แพลน บีได้ให้เหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ว่า เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มรายได้จากความหลากหลาย และความนิยมของธุรกิจและสินค้าของ BNK48 ที่มีการประสานและส่งเสริมกับธุรกิจหลักของบริษัทฯ และเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าสำคัญต่อธุรกิจบันเทิงอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเด็กสาวเหล่านี้  คือสื่อที่มีศักยภาพในการสื่อสารแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

           


เส้นทาง
BNK48 เพิ่งเริ่มต้น


เพลงคุกกี้เสี่ยงทาย ที่คลายความนิยมลงไป และไม่มีเพลงใหม่ที่จะได้รับความนิยมเท่า ทำให้หลายคนคงคิดว่า วันนี้ BNK48 ผ่านจุดความนิยมสูงสุดไปแล้ว แต่จิรัฐบอกว่า นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น วงการเพลงอาจจารึกชื่อ BNK48 ไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่ในวงการอื่นๆ BNK48 กำลังจะก้าวเข้าไป


“BNK48 เป็นเหมือนขุนศึก คอนเทนต์เป็นเหมือนม้าศึกที่จะพาเราข้ามพรมแดน ไปได้ ปีนี้จะมีการลงทุนสร้างภาพยนตร์ รวมทั้งสิ้น 5 เรื่อง  โดยร่วมกับ

  • GDH 1 เรื่อง
  • สหมงคลฟิล์ม 2 เรื่อง
  • CJ Major 1 เรื่อง
  • ไทบ้าน 1 เรื่อง
  • และร่วมสร้างกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี 1 เรื่อง” 


โดยการร่วมมือกับหลากหลายค่าย จิรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพรมแดนความนิยมไปยังรูปแบบต่างๆ อาทิ การขยายสู่ตลาดต่างจังหวัด กับไทบ้าน หรือการทำหนังเพื่อเป้าหมายเปิดตลาดต่างประเทศกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี เป็นต้น


“วันนี้ ผู้คนรู้จัก BNK48 กันแล้ว แต่น้องๆ ก็ต้องโตขึ้น หากคิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว โด่งดังแล้ว ก็จะไปต่อไม่ได้ หมายถึงล้มเหลว  ความสำเร็จผมตั้งไว้แล้ว เราจะ Challenge ตัวเองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วันเริ่มต้น มีคนบอกว่าผมไม่มีทางทำได้ แต่ผมเชื่อมั่นว่าเกิดขึ้นได้ และต้องเป็น Mass ผมจะสร้างวงไอดอลกรุ๊ป ที่เป็นผู้หญิงที่ดังที่สุดให้ได้ ผมทำได้แล้ว จากนี้ผมจะทำ BNK48 ให้เป็นวงไอดอลกรุ๊ปที่ดังที่สุดในอาเซียนและประเทศจีนให้ได้”

และเมื่อความคิดในการต่อยอด BNK48 ยังไปได้อีกไกล ก็อดถามจิรัฐไม่ได้ว่า แล้วแผนในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะกลับมาอยู่ในความคิดของเขาอีกครั้งหรือเปล่า


จิรัฐ ตอบกลับทันทีว่า เป้าหมายของ BNK48 คือการก้าวสู่การเป็นสถาบัน