ชงไฮสปีด 3สนามบินเข้าครม. 28พ.ค.นี้ คาดลงนามสัญญาซีพีปลายเดือน

>>

บอร์ดอีอีซี เคาะสัญญาลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน ก่อนเสนอครมง28พ.ค.นี้  ขณะที่ดีลมาบตาพุดเฟส3เอกชนยอมลดภาระจ่ายลงทุนให้กนอ.


นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ (บอร์ด อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมกันรับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการส่งร่างสัญญาทั้งหมด พร้อมเอกสารแนบท้ายวาระครบถ้วน ให้กับ กพอ. พิจารณาร่วมกันอีกครั้งก่อนให้ รฟท. ลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ภายในเดือนมิ.ย.นี้


นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือ Government Big Data Institute (GBDi) โดยอาศัยกลไกการวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่เรียกว่า Big Data Analytics ซึ่งจะสร้างให้เกิดประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบและใช้ในเชิงวิเคราะห์ โดยทีมงานสถาบันฯ ได้เริ่มพัฒนากรอบแนวทางด้านข้อมูล เพื่อการจัดสรรทรัพยากรด้านบริการสุขภาพให้เหมาะสมตรงกับความต้องการ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุด เพื่อยกระดับการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่อีอีซี


ด้านน.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้เสนอบอร์ดอีอีซีรับทราบ ผลการเจรจากับบริษัทเอกชนกลุ่มกิจการร่วมค้า กัลฟ์และพีทีทีแทงค์ ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการชนะการประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) ระยะเวลา 30 ปี ในวงเงิน 45,480 ล้านบาท ในเรื่องค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนในการร่วมลงทุุน โดยได้ข้อสรุปว่า เอกชนได้ปรับลดการจ่ายเงินร่วมลงทุนอยู่ที่ 710 ล้านบาทต่อปี จากเงื่อนไขของเอกชนเดิมที่ให้จ่าย 720 ล้านบาท รวมเป็นอัตราผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR ที่ กนอ.จะได้รับไม่น้อยกว่า 9.21% จากเดิมอยู่ที่ 9.14%


ขณะที่เอกชนจะได้รับอัตราผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR ลดลงอยู่ที่ 10.73% จากเดิมอยู่ที่ 10.75% รวมผลประโยชน์ที่ กนอ.จะได้รับจากโครงการเพิ่มขึ้น 6,721 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 6,606 ล้านบาท ซึ่งมติบอร์ดอีอีซีให้รอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • สำนักงานงบประมาณ
  • กระทรวงการคลัง
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)


ให้เรียบร้อย ก่อนนำเสนอครม. ภายในสัปดาห์หน้า(4 มิ.ย.2562) จากนั้นคณะกรรมการฯจะส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาแล้วเสร็จ ภายใน 19 มิ.ย.2562 โดยตามกระบวนการคาดจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง กนอ. กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และ พีทีที แทงค์ ภายในเดือนก.ค.2562


“การเจรจาดังกล่าว ได้ดำเนินการอย่างถึงที่สุด ซึ่งเอกชนได้ลดวงเงินและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการเป็นคำนวณหลักการของเงื่อนไขทางการเงิน ที่คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การใช้งบลงทุนในโครงการ ที่ต้องใช้วงเงินที่สูง และกู้เงินเพื่อการลงทุน รวมทั้งการขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ ภายหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ และอาจต้องมีปัจจัยในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการท่าเรือที่จะเข้ามาใช้บริการในอนาคต ทั้งนี้ ในขั้นตอนดังกล่าว หาก กพอ. และครม. เห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการฯเสนอ จะดำเนินการส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสัญญาของโครงการฯดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณเดือน ก.ค.นี้” น.ส.สมจิณณ์ กล่าว