นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินลงทุนรวม 66,848.33 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการนี้รัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปีและให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศตามความเหมาะสม แยกเป็นให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เป็นค่าที่่ปรึกษาสำหรับสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาฯ และค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา 10,255.33 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้าง 55,462 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท รวม 56,543 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมให้ รฟท.กู้ต่อ
“รถไฟทางคู่เส้นนี้ เป็นรถไฟที่ใหม่เป็นเส้นทางที่2 ที่อนุมัติโดยรัฐบาลนี้ โดยเส้นทางแรกคือเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ความพิเศษของรถไฟเส้นทางนี้คือการวิ่งผ่านตอนกลางของภาคอีสานรองรับระเบียงการค้าแนวตะวันตก-ตะวันออกตอนบน และวิ่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 แห่ง ที่จ.มุกดาหารและจ.นครพนม
นอกจากนี้ยังเป็นโครงการรถไฟที่ใช้เวลาดำเนินการมานานกว่า 50ปี นับตั้งแต่เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2532 เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะเชื่อมกับรถไฟทางคู่ที่มากจากจ.ตาก ที่จ.ขอนแก่น ทำให้เป็นเส้นทางตะวันตก-ตะวันออกของประเทศอย่างสมบูรณ์เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เมียนมา สปป.ลาวและเวียดนาม” นายณัฐพร กล่าว
นายณัฐพร กล่าวว่า ลักษณะโครงการ จะเป็นรถไฟทางคู่ ระยะทางรวม 355 กิโลเมตร วิ่งผ่านพื้นที่ 70 ตำบล ใน 19 อำเภอ ของ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม มีทั้งหมด 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกสินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก จ.ขอนแก่น สำหรับการซ่อมวาระเบา ส่วนวาระปานกลางและวาระหนักส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์ มีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ใต้ทางรถไฟ 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้ว 2 ข้างทางตลอดแนวเพื่อช่วยเพิ่มความรวดเร็วและปลอดภัยในการให้บริการ
สำหรับการประเมินการใช้บริการนั้น คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 3,835,260 คน ในปีเริ่มให้บริการคือปี 2569 และเพิ่มเป็น 8,311,050 คน ในปี 2599 ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าที่ 747,453 ตัน ในปี 2569 และเพิ่มเป็น 1,068,170 ตัน ในปี 2599