คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : ‘ไวไว’ ปรุงธุรกิจให้สำเร็จ

>>

ธรรมชาติให้ปีกกับนกเพื่อให้ว่ายน้ำได้บนอากาศ และให้หางมาเพื่อทรงตัวปรับทิศทาง เป็นที่มาของสำนวน “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” ซึ่งหมายถึงการปรับตัว หรือเลี้ยงตัวให้รอดจากสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่างๆ


แนวคิดการทำธุรกิจของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ไวไว” สอดรับกันดีกับสำนวนดังกล่าว จากสถานการณ์ตกที่นั่งตรงกลางระหว่างสองขั้วยักษ์ใหญ่ ซ้ายก็ “มาม่า” ขวาก็ “ยำยำ” ถ้าเดินเกมพลาดไปนิดเดียว เจ้าตลาดพร้อมกระแทกใส่ ส่วนคนที่เดินตามหลังมาก็พร้อมจะชนอย่างจัง


ฉะนั้นแล้ว ไหนๆ ก็เกิดมาเป็น “ไวไว” ถึงชีวิตจริงโคตรจะ slow life การยึดตำรา “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” โดยอาศัย marketing maps นำทาง ก็ทำให้ธุรกิจยังโตต่อไปได้ โดยไม่เสียความเป็นตัวตน


“เป้าหมายไวไว ไม่ได้อยู่ที่ต้องไปโค่นใคร หรือต้องขึ้นเป็นผู้นำในตลาดให้ได้ ไวไวไม่ได้ต้องการเป็นเบอร์ 1 แต่ต้องการเป็นเบอร์ 2 ที่แข็งแกร่งและมีกำไร เราไม่จำเป็นต้องรีบเติบโต แต่เน้นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปทว่ามั่นคง” ผู้บริหารไวไวบอกเล่ากับสื่อ



หัวใจของการทำธุรกิจไวไว มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ สร้างองค์กรให้แข็งแรงให้ได้มากที่สุด ด้วยการหมั่นเพิ่มกล้ามเนื้อ และขยันเต้นฟุตเวิร์กอยู่เสมอ


ถึงไวไวจะเป็นเหมือนไส้แซนด์วิช มีมาม่ากับยำยำประกบอยู่บนล่าง แต่ไวไวก็ยังชิลๆ กับแนวทางการทำตลาดของตัวเอง และพยายามรักษาระยะห่างกับเบอร์ 3 ให้มากเข้าไว้ เพราะถ้ายิ่งใกล้ ไวไวอาจยิ่งเจ็บ เพราะทั้งมาม่าและยำยำ ต่างก็มีงบฯ การทำตลาดที่สูงลิ่ว ชนิดที่ว่าไวไวอาจต้องขายบะหมี่ซองให้ได้ 100 ล้านซอง ถึงจะเป็นสายเปย์แบบสองคนนี้ได้


“ไวไวจะเน้นทำตลาดอย่างมีเหตุผล โฟกัสในจุดที่แข็งแรงที่สุด ไม่เน้นการทุ่มตลาดแบบยื้อแย่งแชร์ เราหลีกเลี่ยงการใช้กลยุทธ์ด้านราคา จะใช้น้อยมาก ถ้าจะใช้ก็ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เช่น แนะนำสินค้าใหม่ กระตุ้นผู้บริโภคให้มีโอกาสได้ทดลอง แต่ถ้าใช้เพื่อแข่งกับคนอื่น มองว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้องและไม่ใช่เวย์ของไวไว”


แล้วเวย์ของไวไวอยู่ที่ไหน อยู่ที่การสร้างทางเลือกใหม่ๆ ของรสชาติ เพื่อสลัดตัวเองออกจาก 2 รสชาติอมตะนิรันดร์กาล อย่าง “รสต้มยำกุ้ง” และ “รสหมูสับ” ที่มาม่าเป็นเสือนอนกินอยู่


ซึ่งก็ต้องยกนิ้วให้เลยว่า ไวไวทำสำเร็จอยู่ไม่น้อย เพราะสามารถสร้างรสชาติที่แข็งแรงเป็นของตัวเอง ชนิดที่ว่าพอได้ยินปุ๊ป คนไม่นึกถึงมาม่าเจ้าประจำแน่ๆ รสชาติที่ว่าก็คือ ไวไวคลิกรสต้มโคล้ง รสหอยลายผัดฉ่า และรสหมูสับต้มยำ ที่แซบนัวถึงขนาด รวมถึงไวไวรสปรุงสำเร็จในตำนานที่อร่อยแบบเชยๆ แต่กลับทำยอดขายได้สูงถึงกึ่งหนึ่งของบะหมี่ซองไวไวทั้งหมด เป็นรสชาติยอดนิยมประจำชาติจริงๆ


“ความแตกต่างและหลากหลายเป็นความแข็งแรงของไวไว การทำตลาดหรือโปรโมชั่น ก็จะเน้นทำในกลุ่มรสชาติที่แข็งแรงเหล่านี้ หลีกเลี่ยงการแข่งในตลาดที่ต้องชนคู่แข่งโดยตรง ซึ่งก็เป็นทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบคือ เราจะมีรสชาติที่คู่แข่งไม่มี แม้ว่าจะมีการออกรสชาติใกล้เคียงมาบ้าง แต่ก็ไม่เวิร์กเท่ากับที่เราทำ


แต่ตลาดที่ผู้นำหรือคู่แข่งอยู่นั้น เป็นรสชาติหลักจึงมีขนาดของตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดที่เราอยู่ แต่ถ้าในวันหนึ่งไวไวสามารถหาจุดที่จะแทรกเข้าไปในตลาดรสชาติหลักนี้ได้ เช่น การหาจุดขายใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม ก็จะเป็นการสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เช่นกัน” ผู้บริหารไวไววิเคราะห์


นอกจากนี้ไวไวยังนับเป็นผู้เล่นที่ทรงคุณค่า (MVP : Most Valuable Player) ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 15,000-17,000 ล้านบาท จากการเปิดตลาดเซกเมนต์ “ขลุกขลิก” ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างบะหมี่น้ำกับบะหมี่แห้ง ถึงตลาดจะไม่หรูหราอลังการมากนัก แต่นี่นับเป็นความสำเร็จของเบอร์ 2 ที่ไม่ปล่อยให้ธุรกิจไหลตามน้ำ


หลังตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มเป็นขาลงในหลายปีมานี้ เพราะไม่เข้าพวกกับอาหารสุขภาพ ไวไวก็ตีลังกาคิดใหม่ ไม่ทู่ซี้ขายแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เลือกขยับไปข้างหน้าด้วยการเปิดธุรกิจอาหาร ขยับไปข้างๆ ผลิตเครื่องปรุงรส และมองไปไกลๆ วิจัยพัฒนาอาหารที่กินง่ายอิ่มสะดวกในอนาคต


ปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูป “ไวไว” บอกว่า ปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่เน้นดูแลสุขภาพตัวเองมากกว่าปล่อยให้ป่วยแล้วรักษา


ขณะเดียวกัน การขยายตัวของสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารทางเลือกใหม่ๆ ส่งผลต่อความจงรักภักดีในแบรนด์ลดลง เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ไวไวจึงต้องกลับไป back to the basic ดึงความแข็งแรงของฐานธุรกิจเดิม เอามาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้สินค้า โดยแบ่งออกเป็น 3 แนวทางหลักคือ

  1. ลงทุนขยายธุรกิจร้านอาหาร “ควิกเทอเรส” ฉีกบะหมี่ซอง เอามาปรุงเป็นอาหารจานหลัก และอาหารระหว่างมื้อ หลังซุ่มทดลองตลาดมาพักใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน แล้วเห็นว่ากระแสตอบรับดีมาก จึงพัฒนาต่อยอดในรูปแบบแฟรนไชส์ คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 100 สาขาภายใน 3-5 ปีนี้ รวมถึงลงทุนเปิดสาขาในต่างประเทศทั้งโซนเอเชียและยุโรป เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศส

  2. เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องปรุงรส แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

  3. ปักธงธุรกิจอาหารสุขภาพมากขึ้น โดยเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนาอาหารอนาคตสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น อาหารที่มีโซเดียมต่ำ และน้ำตาลต่ำ เสริมคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไฟเบอร์ พัฒนาอาหารที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม รวมถึงพัฒนาอาหารพร้อมทานที่ปราศจากสารกันบูด


การปรับตัวดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท ภายใน 5-10 ปี จากกลยุทธ์พร้อมปรุงที่มุ่งให้ไวไวยิ่งสำเร็จ และเป็นองค์กรสุขภาพดีในวันข้างหน้า

 

“ไวไว” ธุรกิจของคนมีเส้น

  • ต่อให้มาม่าเป็นชื่อสามัญประจำบะหมี่ซองแค่ไหน แต่ถ้าเป็นเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทุกคนจะนึกถึงไวไวเป็นจุดเดียว เพราะไวไวทำตลาดมานาน และเข้าถึงร้านก๋วยเตี๋ยวทุกซอกซอยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

  • มูลค่าตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 15,000-17,000 ล้านบาท มาม่ามีส่วนแบ่งตลาด 46% แต่บางแหล่งก็บอกว่า 50-51% ส่วนไวไว มีส่วนแบ่งตลาด 22-23% บางแหล่งบอกว่า 23-24% ซึ่งไม่มีนัยยะอะไรมากนัก และยำยำมีส่วนแบ่งตลาด 20-21% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความหมายกับไวไวมาก ชนิดที่ลุกจากเก้าอี้เบอร์ 2 ไม่ได้เลย

  • หลายปีมานี้ความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโตลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดในจีน ไทย และอินโดนีเซีย ไวไวจึงต้องฉีกแนวการทำตลาด เพื่อให้ธุรกิจยังคงเติบโตและแข็งแรงต่อไปได้

  • ไวไวใช้ 2 กลยุทธ์เป็นท่ามาตรฐานในการทำธุรกิจคือ 

    1. กระตุ้นสินค้าเดิมให้เติบโต พัฒนาสินค้าใหม่ และ
    2. ขยายตลาดต่างประเทศ

  • ไวไวมีรายได้รวมประมาณครึ่งหนึ่งของมาม่า โดยไวไวมีรายได้รวมกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่มาม่ามีรายได้รวมกว่า 13,000 ล้านบาท ในส่วนของกำไร ไวไวมีกำไรสุทธิน้อยกว่ามาม่า 10 เท่า