เทรดวอร์ทำผู้ประกอบการย้ายฐานผลิต หนุนหุ้นนิคมฯ AMATA-WHA จริงหรือ?

>>

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงยืดเยื้อ และไม่มีทีท่าจะได้ข้อสรุปง่ายๆ หลายฝ่ายประเมินว่าหากสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจริง อาจทำให้ผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานในจีน ได้รับผลกระทบและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น 


ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว ด้วยปัจจัยหนุนด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นศูนย์กระจายการลงทุนและเศรษฐกิจของอาเซียน รวมถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC


เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรอบ 6 เดือน ปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561- มีนาคม 2562) มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมฯ รวม 1,339 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 525 ไร่ หรือคิดเป็น 5.25% รวมเป็นมูลค่าลงทุนรวม 8,593 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นิคมฯ ในเขต EEC ถึง 1,328 ไร่ 


เมื่อการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเติบโต บริษัทที่เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมย่อมเติบโตเช่นเดียวกัน หนีไม่พ้น 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) และ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด

 


สงครามการค้า หนุนยอดขายที่ดินพุ่งกระฉูด


บทวิเคราะห์ของบล.เอเชีย พลัส ประเมินว่า สงครามการค้าที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้บริษัทตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเร็วขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในปี 2562 เช่น AMATA และ WHA ให้เติบโตแข็งแกร่ง


สำหรับ AMATA มียอด Presale ที่ดินในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 128 ไร่ จากเป้าหมายทั้งปีที่บริษัทวางไว้ 950 ไร่ ขณะที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ว่าปีนี้จะมีจำนวนทั้งสิ้น 625 ไร่ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนรอทำสัญญาอยู่แล้วประมาณ 600-800 ไร่และในส่วนนี้ 60% เป็นนักลงทุนสัญชาติจีน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องการย้ายฐานการผลิต เพื่อหลีกหนีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 


ทั้งนี้ ด้วย Backlog ปัจจุบัน 3.7 พันล้านบาท ถือว่ารองรับ 82% ของรายได้ขายที่ดินปีนี้ที่ 4.5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากยอดขายใหม่ รวมถึง Recurring Income ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนกำไรปี 2562 ที่ 1.75 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 71.7% จากปีก่อน


ส่วน WHA มียอด Presale ที่ดินในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 106 ไร่ และช่วงที่เหลือจะทยอยเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ 1,000 ไร่ แต่จุดพีคอยู่ที่ครึ่งปีหลังคาดจะเกิดการเร่งโอนและขายทรัพย์สินเข้า REIT มากขึ้น ทำให้กำไรปีนี้น่าจะทำ New High ที่ 3,600 ล้านบาท หรือเติบโต 24% จากปีก่อน 


นอกจากนี้หาก Alibaba สามารถซื้อคลังสินค้าพร้อมที่ดินรวมมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท ได้ตามต้องการ จะทำให้ WHA รับรู้รายได้เต็มจำนวน ซึ่งถือเป็น Upside เพิ่มเติมให้กับบริษัทอีกมาก 

 


ต่างชาติเข้าลงทุนต่อเนื่อง


วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA
บอกว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งของอมตะ ทั้ง "อมตะซิตี้ ชลบุรี" และ "อมตะซิตี้ ระยอง" ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากนักลงทุนจีนที่มีการติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจะส่งผลต่อการขายที่ดินในปีนี้ของกลุ่มอมตะที่ตั้งเป้ายอดขายที่ดินไว้ที่ประมาณ 1,075 ไร่ เติบโตเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน โดยแบ่งเป็น การขายที่ดินในประเทศ 950 ไร่ และในเวียดนามประมาณ 125 ไร่ 


ปัจจุบัน AMATA ยังมีที่ดินสำหรับเตรียมการพัฒนาภายในประเทศอีกราว 8,837 ไร่ แบ่งเป็น อมตะซิตี้ ชลบุรี 7,998 ไร่, อมตะซิตี้ ระยอง 839 ไร่ และที่มีดินอยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศเวียดนามอีกราว 1,269 ไร่ (203 เฮกตาร์) ในนิคม 3 แห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ เบียนหัว, อมตะซิตี้ ลองถั่น และอมตะซิตี้ ฮาลอง นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งในประเทศเวียดนามสำหรับรอการพัฒนาในระยะต่อไป


ขณะที่ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA คาดว่าจะมียอดโอนที่ดินในไตรมาส 2/62 จำนวนมากจากปัจจัยหนุนทั้งประเด็นสงครามการค้าที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปและการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ของภาครัฐซึ่ง WHA Group มีพื้นที่อยู่ในเขตดังกล่าวมากถึง 9 แห่ง


แม้มีปัจจัยหนุน แต่ผลงาน Q1/62 ยังกดดัน


เมื่อลองเช็คราคาหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ถึง 6 มิ.ย. 2562 พบว่าราคาหุ้นของ AMATA ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.30 บาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 13.11% ในขณะที่ราคาหุ้นของWHA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.40 บาทหรือเพิ่มขึ้น 2.8% 


จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นของ WHA ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับ AMATA ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เรื่องนี้ Wealthy Thai มองว่าอาจอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อหาจุดสูงสุดใหม่ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวไม่หวือหวานัก แม้จะมีปัจจัยหนุนเข้ามาก็ตาม ดังนั้น ต้องติดตามต่อไปว่าราคาหุ้นของ WHA จะสามารถปรับขึ้นสูงตาม AMATA ได้หรือไม่ 

 

นอกจากนี้ แม้สงครามการค้าจะทำให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตและช่วยสนับสนุนยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจริง แต่ยังมีปัจจัยถ่วงจากผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 ของทั้ง 2 แห่งที่ออกมาไม่ดี เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และทำการซื้อขายอย่างระมัดระวัง 

 
ที่มา

บทวิเคราะห์บล.เอเชีย พลัส

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

https://bit.ly/2YJEKSW

https://bit.ly/2KEOpoS