สุดแข็งแกร่ง!! กลุ่มธนาคารโชว์ฐานทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สัญญาณเติบโตชัดสินเชื่อเป็นบวกครั้งแรก
>>
ในตลาดทุนไทย หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นหุ้นที่มีความแข็งแกร่งและทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เหตุผลหนึ่งที่บรรดานายแบงก์ทั้งหลายต้องดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม เพราะบทเรียนในอดีตจากปี 2540 จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ฝากบาดแผลที่เจ็บลึกให้กับภาคธุรกิจไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของวิกฤติรอบนั้น คือสถาบันการเงินที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ
เมื่อธนาคารแข็งแกร่งมากจากบทเรียนในอดีตที่เจ็บปวด ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วปัจจุบันนี้หุ้นกลุ่มแบงก์นั้นแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด
เมื่อหันกลับมาดูเช็คหุ้นกลุ่มธนาคารไทยในปัจจุบัน พบว่า มีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยผลประกอบการกลุ่มธนาคารในไตรมาสที่1/2562 มีกำไรสูงถึง 55,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 52,533.21 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.5% โดยผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลในหุ้นกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 3.44%
ฐานเงินทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ความแข็งแกร่งครั้งนี้ถูกสะท้อนผ่านฐานเงินทุนที่หนาแน่น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของความมั่นคง แต่ถ้ามีฐานเงินทุนที่มากเกินไปอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของ บล.ทิสโก้ ได้นำเสนอประเด็น การบริหารเงินทุนเป็นประเด็นสำคัญ ธนาคารส่วนใหญ่มีระดับเงินทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เริ่มมีความสนใจว่าธนาคารมีโอกาสที่จะลดเงินทุนหรือจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดย บล.ทิสโก้ ได้หาเหตุผลสนับสนุนระดับเงินทุนที่สูงพร้อมทั้งทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหว
(อ้างอิง บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้)
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า ความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์นั้นแข็งแรงมาก หากเกิดวิกฤติเช่นในกรณีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวเหมือนในปี 2008 ธนาคารของไทยจะยังมีกำไรและความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีสถานการณ์เดียวที่จะทำให้ CAR ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ที่เพิ่มขึ้น 20% เท่านั้น แต่เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าวกับภาวะปัจจุบันนั้น ถือว่ามีความเสี่ยงที่ต่ำมาก
ในอีกด้านหนึ่งถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยร้อนแรง CAR ในระดับที่สูงอย่างปัจจุบัน พร้อมรองรับการเติบโตของสินเชื่อให้เติบโตในระดับ 2 หลัก ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมีความเป็นไปได้ต่ำเช่นกัน
มีโอกาสที่ปันผลจะเพิ่มขึ้น
จากความแข็งแกร่งของกลุ่มธนาคาร ทำให้เป็นไปได้ว่าหลายธนาคารมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB แต่จะไม่เป็นการจ่ายเงินปันผลพิเศษก้อนเดียว แต่จะเป็นการทยอยจ่ายเพื่อทำให้เงินปันผลของบริษัทเพิ่มขึ้น และเราคาดว่าเงินปันผลของอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยที่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เป็นหุ้นที่มีโอกาสจ่ายเงินปันผลเพิ่มสูงสุด
กลุ่มธนาคารเติบโตดี สินเชื่อเดือนเม.ย. เป็นบวกครั้งแรก
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานว่า ภาพรวมสินเชื่อของกลุ่มธนาคาร เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เติบโตจากเดือนมี.ค. อยู่ 0.19% ทำให้สินเชื่อของทั้งกลุ่มธนาคารนั้นเติบโตเป็นบวกเป็นเดือนแรกของปี 62 โดยเพิ่มขึ้น 0.07% นับจากต้นปี โดยยังคงมี 3 ธนาคารที่สินเชื่อหดตัวลง คือ แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHFG, ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP และ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ในขณะที่ธนาคารที่เหลือมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนทั้งหมด
โดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY มีสินเชื่อเติบโตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 0.78% และทำให้กลายเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตมากที่สุดเมื่อเทียบจากต้นปีถึงปัจจุบัน ที่ 2.2% ขณะที่ แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หดตัวมากที่สุด 1.1% จากเดือนก่อน ส่วนธนาคารกรุงเทพ สินเชื่อหดตัวอีก 0.51% จากเดือนก่อน โดยเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อหดตัวมากที่สุดเมื่อเทียบจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 3.08%
ทั้งนี้ บล.ฟิลลิป “ยังให้น้ำหนัก “ลงทุนมากกว่าปกติ” หลังจาก เดือน เม.ย. สินเชื่อของกลุ่มธนาคารกลับมาเป็นบวกแล้ว ทำให้ทางฝ่ายมองว่าช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ การปล่อยสินเชื่อน่าจะเร่งตัวขึ้นได้อีก โดยยังคงเลือก ธนาคารกรุงเทพ เป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุดของกลุ่ม แม้ว่าสินเชื่อจะหดตัวมากที่สุด เนื่องจากมองว่าสินเชื่อขนาดใหญ่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโต ซึ่งธนาคารกรุงเทพ มีความเชี่ยวชาญในตรงจุดนี้
นับจากต้นปีหุ้นกลุ่มธนาคารราคาหุ้นอยู่ในระดับทรงตัวและถือว่าเป็นหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และด้วยความชัดเจนที่ประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเข้มแข็งของฐานเงินทุนของกลุ่มธนาคารที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาจส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารจะกลับมาอยู่ในเรดาร์ความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง
อ้างอิง
บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้
บทวิเคราะห์ บล.ฟิลิป (ประเทศไทย)