นักวิชาการชี้ปัญหาภาษียาเส้นอยู่ที่โรงงานขาดสภาพคล่อง

>>

นักวิชาการป้องรัฐขึ้นภาษียาเส้น คาดนักสูบยังซื้อไหว ชี้ปัญหาอยู่ที่โรงงานขาดสภาพคล่องจ่ายภาษีเพิ่ม


รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังที่ออกกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ให้ขึ้นภาษียาเส้นจาก 0.005 บาทเป็น 0.10 บาทต่อกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.62 เป็นการขึ้นภาษียาเส้นครั้งที่ 2 และเป็นครั้งที่ขึ้นมากที่สุดในรอบ 50 ปี


ซึ่งการวางแผนปรับขึ้นภาษียาเส้นในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้


“การตัดสินใจขึ้นภาษียาเส้นในครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลคสช. ที่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการ สร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี และเป็นไปตามหลักสากลในอารยประเทศ” รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว


อัตราภาษียาเส้นที่เพิ่มขึ้นมา 19 เท่าในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นเพราะตั้งแต่มีพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 จนถึงพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีการขึ้นภาษียาเส้นไปเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นคือเมื่อปี 2556 โดยขึ้นภาษี 9 เท่า จากเดิม 0.001 บาท/กรัม เป็น 0.01 บาท/กรัม ส่วนการขึ้นภาษีในปีนี้ถือเป็นการขึ้นภาษียาเส้นครั้งที่ 2 ในรอบกว่า 50 ปี และขึ้นในอัตรามากที่สุด


ขณะที่ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตอย่างเดียวรวมแล้วถึง 16 ครั้ง ทำให้ก่อนหน้านี้ยาเส้นห่อหนึ่งเสียภาษีรวมประมาณ 18 สตางค์ แต่บุหรี่ซองหนึ่งเสียภาษีไม่ต่ำกว่า 47 บาท นี่คือ ความต่างกันถึง 260 เท่าตัว ทั้งที่ทุกฝ่ายก็ทราบว่ามีอันตรายเหมือนกัน


รศ.ดร.อรรถกฤต อธิบายว่า การขึ้นภาษียาเส้นในครั้งนี้ไม่กระทบต่อยาเส้นชาวไร่ปลูกและหั่นเองแล้วนำไปขายให้โรงงานยาเส้น ซึ่งจะยังคงเสียภาษีอัตรา 0 บาทเหมือนเดิม ผลกระทบน่าจะตกอยู่ที่โรงงานยาเส้นมากกว่า โรงงานที่ซื้อแสตมป์สรรพสามิตไปตุนไว้ในปริมาณมากก่อนวันที่ขึ้นภาษี ทำให้ต้องมีหน้าที่ไปชำระภาษีเพิ่มเมื่อมีการขายยาเส้นออกจากโรงงานจริง


“คาดว่าจะทำให้มีภาระภาษีต่อห่อเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 บาท แล้วแต่ขนาดบรรจุ ถ้าผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาก็ขึ้นราคาเล็กน้อย เท่าที่ติดตามดูก็เห็นปรับเป็นราคาห่อละไม่เกิน 15 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าบุหรี่ที่ราคาถูกที่สุดในตลาดอยู่ถึง 3 เท่าตัว ส่วนที่มีข่าวว่าผู้ผลิตยาเส้นต้องจ่ายภาษีเพิ่มถุงละกว่า 1 พันบาทนั้น เข้าใจว่าเป็นกรณีถุงใหญ่ขายส่งถุงละ 10 กก.” รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว


ต่อกรณีที่มีข่าวว่ากลุ่มผู้รับซื้อยาเส้นและชาวไร่ยาสูบในสังกัดได้ยื่นหนังสือแสดงความเดือดร้อนถึงรัฐบาล ขอให้หยุดการเก็บภาษียาเส้นอัตราใหม่ โดยระบุว่าขณะนี้ได้รับผลกระทบทันทีเพราะผู้ผลิตยาเส้นชะลอการรับซื้อใบยานั้น รศ.ดร.อรรถกฤต ชี้ว่ายังไม่น่าจะเห็นผลกระทบต่อชาวไร่ที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้จะขึ้นราคายาเส้นหลังการขึ้นภาษีแต่ก็ยังเป็นราคาที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ ห่อละไม่เกิน 15 บาท


“คิดว่าผลกระทบต่อยอดขายยังไม่น่าจะมีมากนัก เพราะราคายังถูกอยู่ และบางยี่ห้อมีการปรับขนาดลดลงเพื่อให้เสียภาษีลดลงและไม่ต้องขึ้นราคามากนัก แต่ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่ผู้ผลิตยาเส้นต้องหามาจ่ายค่าภาษีเพิ่มตอนขายยาเส้นออกหน้าโรงงานมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก็สามารถหารือกับภาครัฐได้ว่ามีวิธีบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในส่วนนี้ได้บ้างหรือไม่”


ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 พบว่า คนไทยเกือบ 5 ล้านคน นิยมสูบยาเส้น และอีกราว 5 ล้านคนนิยมสูบบุหรี่โรงงาน แต่รัฐบาลไทยกลับเก็บภาษียาเส้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยกรมสรรพสามิตได้เปิดเผยตัวเลขไว้ว่าในปี 2561 มียาเส้นชำระภาษีรวมปริมาณ 26,000 ล้านกรัม เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เก็บภาษีสรรพสามิตได้ 130 ล้านบาท ขณะที่บุหรี่ปริมาณ 34,000 ล้านมวน ลดลง 16% เก็บภาษีสรรพสามิตได้กว่า 68,000 ล้านบาท


ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด รัฐบาลควรจัดทำโมเดลการกำหนดและประกาศแผนการขึ้นภาษีล่วงหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไปสำหรับยาเส้นอย่างชัดเจน เพื่อให้มีอัตราใกล้เคียงกับภาษีบุหรี่มากที่สุด ตามหลักสากลที่ว่า สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในลักษณะเดียวกันต้องเก็บภาษีเท่ากัน เพื่อลดการบริโภคสินค้าทดแทนที่เสียภาษีถูกกว่าหรือไม่เสียภาษีเลย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา