การเงินเชิงพฤติกรรมกับการบริหารความมั่งคั่ง (3)

>> ตอนที่ 3: ระบบบัญชีสมอง (Mental Accounting)

ตอนที่ 3: ระบบบัญชีสมอง (Mental Accounting)


เมื่อพูดถึงเรื่อง “การวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณอายุ”
ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้สำหรับการวางแผนและเกี่ยวข้องกับอายุประกอบด้วย อายุปัจจุบัน อายุที่ต้องการเกษียณ และอายุขัย บางคนอาจถึงกับหน้าบึ้งและเปลี่ยนบทสนทนาไปเรื่องอื่นทันที เพราะเมื่อได้ยินคนถามเรื่องอายุทีไรก็แสลงใจไปซะทุกที พอใครถามเรื่องอายุก็มักจะอิดออดไม่ยอมบอกอายุที่แท้จริง หรือไม่ก็เลี่ยงตอบว่าให้เดาจากรอบเอว แต่ถ้าจะให้เดาจากใบหน้าก็คงอายุน้อยเกินจริงเพราะคนสมัยนี้นิยมสวยปิ๊งหล่อเป๊ะด้วยแพทย์ ถ้าไม่ทราบอายุที่แท้จริงแล้วการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุจะทำได้อย่างถูกต้องได้อย่างไร???


นอกจากนี้แล้วคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณเป็นเรื่องของอนาคตอันยาวไกลร้อยลี้พันลี้ที่ยังมาไม่ถึงสักที ดังนั้นคนเราจะให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินสำหรับเรื่องอื่นๆ ที่ใกล้ตัวก่อนเสมอ เช่น คนที่เพิ่งเริ่มทำงานมักจะวางแผนเก็บเงินเพื่อซื้อรถยนต์มากกว่าที่จะคิดถึงการออมเงินเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณในอีกราวๆ 40 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีนโยบายรถยนต์คันแรกเป็นตัวกระตุ้นต่อมอยากมีรถทั้งๆ ที่อาจยังไม่มีความจำเป็น จนกระทั่งทางด่วนเกือบจะกลายเป็นลานจอดรถในเวลาเร่งด่วน


“ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายเงินเพื่อความสุขในปัจจุบันจะมีความสำคัญ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอายุก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นการวางแผนทางการเงินที่ดีจะต้องเป็นการวางแผนการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ควบคู่กันไปเสมอ ทางทฤษฎีดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ง่ายแต่ในทางปฎิบัติแล้วถือว่าเป็นเรื่อง ‘ยาก’ พอสมควรที่คนเราจะวางแผนทางการเงินแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงหลายๆ วัตถุประสงค์ในเวลาเดียวกัน”


เนื่องจากตามแนวคิดของการเงินเชิงพฤติกรรมนั้น คนเรามีแนวโน้มที่จะวางแผนทางการเงินสำหรับแต่ละวัตถุประสงค์แยกออกจากกันในลักษณะของ “ระบบบัญชีสมอง (Mental Accounting)” รวมทั้งมองข้ามปฎิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์ต่างๆ (Thaler, 1999)  ดังนั้นในขั้นตอนของการวางแผนทางการเงิน ระบบบัญชีสมองจึงเปรียบเสมือนปีศาจร้ายที่คอยสร้างภาพลวงตาให้เราเห็นความสำคัญของการใช้จ่ายเงินเพื่อ ความสุขในปัจจุบัน มากกว่า ความสุขในอนาคต


แต่ถ้าเราสามารถก้าวผ่านจากขั้นตอนของการวางแผนมาสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติแล้ว ระบบบัญชีสมองก็ควรจะแปลงร่างจากปีศาจร้ายมาเป็นเทวดาผู้แสนดีที่คอยช่วยอารักขาเงินออมในระบบบัญชีสมอง โดยไม่ยินยอมให้เรานำเงินออมเพื่อการเกษียณอายุไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เพราะระบบบัญชีสมองจะแยกบัญชีเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ออกจากกัน เช่น

  • บัญชีการซื้อรถยนต์
  • บัญชีการซื้อบ้าน และ
  • บัญชีการเกษียณ


“สำหรับบางคนที่ปีศาจร้ายตนนี้ค่อนข้างจะเฮี้ยนสักหน่อย มันก็อาจไม่ยอมแปลงกายเป็นเทวดาแต่ซ้ำร้ายกลับมีคาถาอาคมแก่กล้ามากขึ้น จนถึงขั้นสั่งให้เราเอาเงินที่กันไว้สำหรับใช้ยามเกษียณไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นก่อน”


Tversky
และ Kahneman (1981) ได้ออกแบบคำถามเพื่อใช้ตรวจจับ อคติ (Bias)’ ในการตัดสินใจ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘ปีศาจระบบบัญชีสมอง’ เราอาจจะลองตอบคำถามทั้งสองดูก็ได้นะครับ แล้วเราค่อยมาดูกันว่าเราเป็นร่างทรงของปีศาจตนนี้หรือไม่ เพราะวันดีคืนดีปีศาจตนนี้อาจเข้าประทับร่างของเราเป็นร่างทรง และทำให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อการเกษียณผิดพลาดได้

จากผลการศึกษาของ Tversky และ Kahneman พบว่า ร้อยละ 88 ของผู้ตอบคำถามข้อที่ 1 เลือกตอบตัวเลือก (A) โดยยืนยันที่จะต้องดูละครเวทีเรื่องนี้ให้ได้และยินยอมที่จะควักเงิน $10 เพื่อซื้อตั๋วละครเวที ถึงแม้ว่าตนเองจะเพิ่งทำเงิน $10 หล่นหายไป ถ้าผู้ตอบคำถามเป็นผู้มีเหตุผลและไม่มีปีศาจระบบบัญชีสมองแฝงอยู่ในร่าง ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ก็ควรที่จะต้องเลือกตอบตัวเลือก (C) สำหรับคำถามในข้อที่ 2


แต่จากผลการทดลองแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น Tversky และ Kahneman พบว่า ร้อยละ 54 ของผู้ตอบคำถามข้อที่ 2 เลือกตัวเลือก (D) คือยกเลิกการดูละครเวที เพราะไม่อยากควักเงินออกจากกระเป๋าอีก $10 เพื่อซื้อตั๋วละครเวทีใบใหม่แทนตั๋วใบเดิมที่ทำหล่นหาย


“แสดงว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าการที่ตนเองทำแบงค์
$10 หล่นหายนั้นมีความสูญเสียน้อยกว่าการที่ตนเองทำตั๋วละครเวทีราคา $10 หล่นหาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้งแบงค์และตั๋วละครก็มีมูลค่า $10 เท่ากัน!!!”


ปรากฎการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดไม่ใช่น้อยที่คนเราจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เนื่องจากปีศาจร้ายได้แยก ระบบบัญชีในสมองของแบงค์ออกจาก “ระบบบัญชีในสมองของตั๋วละคร” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ปีศาจระบบบัญชีสมองได้สร้างภาพลวงตาทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า การดูละครเวทีเรื่องนี้จะต้องเสียเงินเพื่อซื้อตั๋วที่มีราคาสูงถึง $20 สำหรับสถานการณ์ในข้อ 2 แต่มีราคาเพียง $10 สำหรับสถานการณ์ในข้อ 1 นั่นเอง

YOU MIGHT ALSO LIKE