หุ้นรับเหมาก่อสร้างเป็นหุ้นอีกหนึ่งกลุ่มที่โดดเด่นขึ้นหลังเลือกตั้ง ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ยิ่งการที่มีความชัดเจนของว่าที่ครม.ชุดใหม่ ยิ่งทำให้กลุ่มรับเหมายิ่งฮอตสุดขีด ซึ่งที่ผ่านมา Wealthy Thai ได้พูดถึงหุ้นรับเหมามาหลายหลักทรัพย์ แล้ว แต่ครั้งนี้จะแตกต่างออกไป เพราะเป็นธุรกิจรับเหมาที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจรับเหมาเท่านั้น แต่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัปทานอยู่ด้วย และหุ้นรับเหมา นั่นก็คือ CK หรือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
ช.การช่าง หรือ CK เป็นบริษัทที่มีจุดเริ่มต้นจากงานก่อสร้าง มาตั้งแต่ปี 2515 โดยความน่าสนใจคือ CK ประกาศเป็นบริษัทที่ลงทุนใน “โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับภูมิภาค” โดยธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ในปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ 29,292.30 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 93.96% แบ่งเป็น
- งานก่อสร้างจากงานภาครัฐ 13,926.98 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46%
- งานก่อสร้างภาคเอกชน 15,365.32 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54%
ซึ่งต่อมาสัดส่วนธุรกิจส่วนที่เกี่ยวข้อง จะถูกปรับให้บาลานซ์ขึ้น ซึ่งวันนี้ CK ก็พิสูจน์ตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เพียงผลงานจากการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น การเติบโตยังมาจาก บริษัทลูก ที่ทำผลงานได้ดี ช่วยหนุนการเติบโตให้บริษัทได้ในระยะยาว
ก่อนที่จะลงรายละเอียดบริษัทลูก เรามาดูแบ็กล็อกกันก่อนว่า CK อยู่อันดับที่เท่าไหร่
แบ็กล็อกในมือเพียบ!
CK ได้เปรียบในแง่ที่มีแบ็กล็อคน้อย เมื่อเทียบกับในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ดังนั้นในปีนี้การที่ CK ได้เข้าร่วมงานประมูลไปแล้วกว่า 310,000 ล้านบาท จะส่งผลกับผลประกอบการและราคาหุ้นแน่นอน โดยงานที่เข้าร่วมประมูล ประกอบด้วย
- งานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 290,000 ล้านบาท โดยจับมือกับพันธมิตร ได้แก่ CP, ITD, CK, BGRIM,และ Orient success international limited
- งาน O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย มูลค่า 13,000 ล้านบาท ทาง BEM จะเข้ายื่นซองภายใน 27 มิถุนายนนี้
- งานพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ แปลง A มูลค่า 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษา หากเข้าร่วมกำหนดยื่นซองวันที่ 30 กรกฎาคมนี้
BEM เปลี่ยนการเดินทางเป็นเงิน
เริ่มจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ปัจจุบันการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อวัน 7.89 ล้านบาท จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 311,538 เที่ยวต่อวัน
BEM ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายฉลองรัชธรรม) ให้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยภายในปี 2563 จะมีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถ เพิ่มอีก 2 ช่วงคือ
- สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ภายในเดือน กันยายน 2562
- สถานีเตาปูน-ท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563
นอกจากนี้ BEM ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)เปิดให้บริการทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัชวงแหวนรอบนอกฯกับทางพิเศษศรีรัช (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) เพื่อขยายโครงข่ายทางพิเศษจากฝั่งตะวันตก ไปทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ
และนอกจากงานรับเหมาก่อสร้างแล้ว มีบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ดำเนินธุรกิจ Holding Company ในโครงการไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ผ่านการดำเนินงานในบริษัทหลักๆ ดังนี้
- บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด
- บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด
- บริษัท บางปะอินโคเจนเนอเรชั่น จำกัด
- บริษัท บางเขนชัย จำกัด
- บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด
- บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด
- บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด
สิ้นปีที่แล้วบริษัทมีกำลังการผลิตติตตั้งจากโครงการไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย กำลังการผลิตติดตั้งจากโครงการไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 875 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้งจากโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1,292 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีรายได้รวม 9,115 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ 8,950 ล้านบาท รายได้ค่าบริหารโครงการ 120 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 62,503 ล้านบาท
TTW ขายน้ำประปาให้รัฐบาล
และอีกตัวคือบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) ครอบคลุมพื้นที่ อ.นครชัยศรี อ.สามพราน อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอ.เมืองสมุทรสาคร อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และบางพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานีด้วย
โดยปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 5,949 ล้านบาท แบ่งเป็น
- รายได้จากการขายน้ำประปา 5,807 ล้านบาท
- รายได้จากการบริการ 118 ล้านบาท
ทั้งนี้ TTW มีลูกค้ารายเดียวคือกปภ. โดยซื้อน้ำประปาจากสถานีจ่ายน้ำพุทธมณฑลและสถานีจ่ายน้ำมหาชัย โดยกปภ.จะทำการจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำด้วยการจ่ายน้ำผ่านท่อจ่ายน้ำและท่อบริการ
เพราะฉะนั้นจึงถือว่าครบเครื่องเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โรงไฟฟ้า ตลอดจนระบบน้ำประปา หุ้น CK จึงเป็นหุ้นที่สนใจที่สุดใน SET100 ในแง่ของการดำเนินงานผ่านบริษัทลูกที่แข็งแกร่ง!
โบรกฯ มองยังไง
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) แนะนำซื้อ CK ที่ราคาเป้าหมาย 40 บาท โดยมองเป็น Top pick ของกลุ่มผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะได้อานิสงส์โดยตรงจากการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ประกอบกับราคาหุ้นของ CK ในปัจจุบันยังไม่ได้สะท้อนมูลค่าเงินลงทุนในกลุ่มบริษัทลูก (BEM, CKP และ TTW) ซึ่งคิดเป็น NAV ประมาณ 78,000 ล้านบาท เทียบกับมาร์เก็ตแค็ปของ CK ที่ 49,123 ล้านบาท
บล.ฟิลลิปมองว่า หุ้น CK ช่วงครึ่งปีหลัง 2562 น่าจะมีการประมูลงานใหม่ที่หนาแน่นขึ้น ทําให้มีปัจจัยเร่งต่อราคาหุ้นมากขึ้น โดยราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาค่อนข้าง Laggard เพราะฉะนั้นโมเมนตัมการเซ็นงานใหม่ปีนี้ จะช่วงให้แบ็กล็อคกลับไปสู่ระดับ 100,000 ล้านบาทได้ ขณะเดียวกันประเมินผลกําไรจากบริษัทร่วมดีขึ้น โดยที่ CKP น่าจะมีกําไรมากขึ้น จากการเดินการผลิตไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีที่เดินเต็มปีจากที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าในไตรมาส 4 ปีนี้ขณะที่ BEM น่าจะได้ผลดีจากจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่จะเปิดให้บริการในปีนี้
บล.หยวนต้า แนะนำซื้อ BEM ที่ราคาเป้าหมาย 12 บาท โดยทางนักวิเคราะห์ได้ปรับเพิ่มประมาณการปี 2562-2563 ที่ 1% และ 5% ตามลำดับ และมองว่ากำไรครึ่งปีหลังจะเด่นกว่าครึ่งปีแรก จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพงสถานีหลักสอง (11 สถานี) ที่มีกำหนดทดสอบการเดินรถในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเริ่มเปิดให้วิ่งฟรีในวันที่ 12 สิงหาคม 2562 และเริ่มเดินรถอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งหากเปิดเดินรถได้ตามกำหนด เชื่อหนุนปริมาณผู้สารเพิ่มขึ้นแน่นอน
ที่มา รายงานประจำปี CK,BEM และ CKP
บทวิเคราะห์หุ้น CK,ITD,STEC,UNIQ เดือนพฤษภาคม 2562