"อะไรที่ทำให้เงินมีค่า"

>>

พี่มาร์ค ซัคเคอร์เบิกได้ประกาศเรื่องการสร้างเงินดิจิตัล "ลิบร้า" ที่มีเฟซบุ๊คและพันธมิตรมากมายมาร่วมทีม นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตลาดเงินครั้งใหญ่ของโลก แต่ก่อนจะลงไปลึกขนาดนั้นต้องย้อนกลับมาคำถามเบสิกที่สุดก่อนว่ามูลค่าของเงินจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่และลิบร้าจะมีมูลค่าจริงๆ หรือไม่


ย้อนกลับไปในการค้าขายในยุคโบราณแต่ละอาณาจักรก็มักจะใช้ของหายากเช่นทองคำหรือเงินมาใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า หรืออย่างในดินแดนแถบบ้านเราก็ใช้เปลือกหอยในการแลกเปลี่ยน การค้าระหว่างประเทศในยุคโบราณก็มักจะถือเอามูลค่าของอาณาจักรที่แข็งแกร่งกว่ามาเป็นตัวแทนความมั่นคงของค่าเงินเช่นญี่ปุ่นยอมรับการใช้เหรียญหย่งเล่อของราชวงศ์หมิงในการซื้อขายสินค้าในญี่ปุ่น หรือเหรียญโรมันโบราณก็พบได้ทั่วไปในดินแดนเอเซีย


ต่อมาประเทศอังกฤษเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละมากๆ และก็เริ่มส่งสินค้าออกไปขายทั่วโลก เมื่ออังกฤษสามารถทำสงครามชนะนโปเลียนได้อังกฤษก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก วิสัยทัศน์ของอังกฤษในการใช้กองทัพเรือสร้างอาณานิคมไปทั่วโลกทำให้ค่าเงิน ปอนด์ ของอังกฤษได้รับความเชื่อถือจากผู้คนทั่วโลกตามความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงประเทศอังกฤษที่เป็นมหาอำนาจทั้งในด้านการเงิน การค้าขาย

(ขอบคุณภาพประกอบจาก internet)


กองทัพอังกฤษและดินแดนอันกว้างใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษรวมทั้งทองคำซึ่งเป็นสิ่งที่อังกฤษใช้เป็นเครื่องมือกำหนดมูลค่าของเงินปอนด์ซึ่งเรียกว่าระบบมาตรฐานทองคำเนื่องจากในเวลานั้นใครก็ตามที่ถือเงินปอนด์สามารถไปถอนเงินได้ที่ธนาคารกลางประเทศอังกฤษตามน้ำหนักที่กำหนดไว้คงที่ตลอด ซึ่งระบบนี้ก็ถูกนำไปใช้ทั่วโลกโดยธนาคารกลางแต่ละประเทศโดยจะพิมพ์ธนบัตรได้เท่ากับจำนวนทองคำที่ถือครองอยู่ 


ต้นศตวรรษที่ 20 โลกได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศหยุดชะงัก ประเทศต่างๆ ต้องขนทองคำออกมาเพื่อใช้จ่ายไปในการทำสงครามทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงินครั้งใหญ่ และก็ยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามใกล้สงบลงและฝ่ายสัมพันธมิตรแน่ใจแล้วว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะสงคราม เหล่าผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้จัดการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเงินโลกครั้งใหม่ โดยใช้เงินดอลล่าเป็นสกุลเงินหลักของโลกและเป็นสกุลเงินอ้างอิงในการรักษามาตรฐานทองคำ


หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกจริงๆ แบบที่อังกฤษเคยครองโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกองทัพที่มีอยู่ทั่วโลกทำให้สหรัฐอเมริกาดูเป็นประเทศที่มั่นคงที่สุดในโลก ด้วยภาพแบบนี้ไม่น่าแปลกใจที่เงินดอลล่าที่มีความน่าเชื่อถือรัฐบาลอเมริกาแบ็คอัพก็ได้กลายสกุลเงินของโลก


หลังจากสงครามโลกผ่านไปเพียงไม่กี่สิบปีสถานการณ์การค้าของโลกก็เปลี่ยนไปเมื่อผู้แพ้สงครามทั้งเยอรมันและญี่ปุ่นต่างสามารถฟื้นตัวจากสงครามได้อยากรวดเร็ว ทั้งสองประเทศกลายเป็นผู้นำในหลากหลายอุตสาหกรรมและส่งสินค้าออกมาครองโลก 


ฬนทางกลับกันสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้แพ้สงครามเศรษฐกิจเมื่อค้าขายขาดดุลกับญี่ปุ่นและเยอรมันเป็นอย่างมาก รวมทั้งการที่อเมริกาที่ทุ่มเงินมหาศาลไปสนับสนุนสงครามตัวแทนอย่างเช่นที่เวียดนามก็ทำให้สถานการณ์การคลังของประเทศดูไม่สวยสักเท่าไหร่


ล่วงเข้ามาถึงปี 1970 เมื่อสถานการณ์การค้าของสหรัฐอเมริกายังคงไม่ดีขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลล่าเริ่มเสื่อมลง ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จึงได้ประกาศยกเลิกการใช้มาตรฐานทองคำที่สามารถเอาเงินดอลล่ามาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ นี่เป็นเหตุการณ์ช็อคโลกที่ทำให้ตลาดเงินปั่นป่วนไปพักใหญ่ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "นิกสันช็อค"


แม้จะเสียความจ่าเชื่อถือไปแต่ก็ยังไม่มีคนพิมพ์เงินคนไหนในโลกที่น่าเชื่อถือไปมากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้เงินดอลล่ายังกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงจะมีคนสงสัยว่ามันจะค่าอยู่ไปอีกนานแค่ไหนก็ตาม

(ขอบคุณภาพประกอบจาก internet)

 

เมื่อเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและบริษัทเอกชนกลับเป็นคนที่มีอำนาจต่อรองเหนือรัฐบาลมากขึ้น ประชาชนสื่อสารหรือใช้ชีวิตผ่านช่องทางของบริษัทมากขึ้น จำนวนประชาชยของประเทศ Facebook มีมากกว่าคนในสหรัฐอเมริกา หรือคนที่ใช้จ่ายเงินผ่าน Paypal ทั่วโลกกฏมีเยอะกว่าธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ จึงเกิดคำถามว่า "รัฐบาลเป็นแค่คนเดียวที่น่าเชื่อถือพอจะพิมพ์เงินออกมาหรือ?" ซึ่งจากรอยเท้าของประวัติศาสตร์ก็ชัดเจนว่าบางทีรัฐบาลก็เจ๊งได้เหมือนกันเหมือนอาเจนติน่าหรือเวเนซุเอล่า ถ้าเคสแบบเบาๆ ก็เช่นนิกสันช็อคที่ทำลสยศรัทธาของสกุลเงินอันดับหนึ่งของโลกมาแล้ว


ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินปอนด์สมัยที่จักรวรรดิอังกฤษเรืองอำนาจ เงินดอลล่าหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองหรือจะเป็นยุคที่เงินสกุลดิจิตอลกำลังเกิดขึ้นแทบทุกวัน สิ่งเดียวที่ค้ำจุนให้ค่าเงินยังมีค่าอยู่ได้ก็คือ "ความมั่นใจ" นั่นเอง ความมั่นใจคนที่ออกเงินจะไม่เจ๊ง คนออกเงินจะใช้หนี้ได้ หรือคนออกเงินจะมีความมั่นคงต่อไปเรื่อยๆ เป็นรากฐานของมูลค่าที่ทำให้เราใช้จ่ายเงินทุกวันนี้ 


ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเชื่อนี้เริ่มสั่นคลอนมูลค่าของเงินก็พร้อมจะลดฮวบลงไปเหมือนที่เงินปอนด์หมดบทบาทไปพร้อมกับจักรวรรดิอังกฤษ หรือที่เงินดอลล่าต้องเจออยู่หลายครั้ง 


การออกตัวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เป็นก้าวแรกที่มาท้าทายความเชื่อว่ารัฐบาลคือหน่วยงานที่มั่นคงที่สุดในโลกเพราะถ้าดูจากพันธมิตรที่พี่มาร์คขนมาก็ต้องบอกว่าหากเปลี่ยนพันธมิตรของสกุลเงินลิบร้าเป็นประเทศ นี่คือประเทศที่มีประชากรมากกว่าสหรัฐอเมริกา(Facebook) เป็นประเทศที่ควบคุมการใช้จ่ายของคนทั้งโลก (Paypal, Visa) และเป็นประเทศที่มีคนใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าที่ต้องติดต่องานกับรัฐบาล (Uber, Spotify) 


โจทย์ต่อไปของทีมงานลิบร้าก็คือว่าจะสร้างความมั่นใจนี้ให้กับคนไปได้นานขนาดไหนเพราะปกติดีลที่มีหลายพรรคเล็ก หลายมุ้งแบบนี้มักจะจบแบบไม่ค่อยสวยแต่ถ้าทำได้ หากทีมงานลิบร้าสามารถบริหารจัดการให้เรียบร้อยได้ อาจจะเป็นการเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจการเงินของโลกเหมือนที่อังกฤษเปลี่ยนมาเป็นสหรัฐอเมริกา เพียงแต่คราวนี้เปลี่ยนขั้วจากรัฐบาลมาเป็นบริษัทเอกชน

(ขอบคุณภาพประกอบจาก internet)

 



Reference: หนังสือการบริหารการเงินระหว่างประเทศ ศ. ดร. พรชัย ชุณหจินดา
https://en.wikipedia.org/wiki/Nixon_shock
https://techcrunch.com/2019/06/18/facebook-libra/