“บลจ.ไทยพาณิชย์”...ขาย 2 ‘Term Fund’ ผ่านแอป ‘SCBAM Fund Click’
>>
“บลจ.ไทยพาณิชย์”...ขาย 2 ‘Term Fund’ อายุ 3 เดือน และ 1 ปี ผ่านแอป ‘SCBAM Fund Click’ ชูจุดเด่นผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและช่องทางขายทั่วไป คาดผลตอบแทน 1.85 -2.25% ต่อปี
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อเสนอขายกองทุนครั้งแรก (IPO) ผ่านแอปพลิเคชัน ‘SCBAM Fund Click’ ด้วยการเปิดขายกองทุนประเภทเทอมฟันด์ ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่า 90% จำนวน 2 กองทุน ด้วยกัน คือ
- ‘กองทุนเปิด SCBAM Fund Click 3M1 (SCBAMFC3M1)’ อายุ 3 เดือน
- ‘กองทุนเปิด SCBAM Fund Click 1Y1 (SCBAMFC1Y1)’ อายุ 1 ปี
“โดยมีมูลค่าโครงการกองทุนละ 15,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองกองทุนนี้มีจุดเด่นที่มีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำและกองทุนประเภทเทอมฟันด์ที่เสนอขายทั่วไป เริ่มเสนอขายตั้งแต่วันนี้ - 1 ก.ค. 19 นี้เท่านั้น ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท โดยจำกัดยอดลงทุนสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อกองทุน”
โดยสินทรัพย์ที่คาดว่าทั้ง 2 กองทุนจะลงทุนเป็นเงินฝากและตราสารหนี้ต่างประเทศไทย ผลตอบแทนของ ‘กอง SCBAMFC3M1’ คาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 1.85% ต่อปี และ ‘กอง SCBAMFC1Y1’ คาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 2.25% ต่อปี ซึ่งจะมีผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนเทอมฟันด์ที่ขายผ่านช่องทางทั่วไป สำหรับผู้ลงทุนที่เคยเปิดบัญชีกองทุนโดยตรงกับบริษัทอยู่แล้วสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘SCBAM Fund Click’ ผ่าน App Store ในระบบ IOS และ Play Store ในระบบ Android เพื่อลงทุนได้ทันที ส่วนผู้ที่สนใจสามารถเปิดบัญชีกองทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ เพียง 4 ขั้นตอน คือ
- เข้าสู่ระบบการเปิดบัญชี
- กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วนและทำแบบประเมินความเสี่ยง
- ถ่ายภาพและอัปโหลดเอกสารการเปิดบัญชี ประกอบด้วย บัตรประชาชน ถ่ายภาพตนเองคู่บัตรประชาชน หน้าแรกสมุดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินคืนค่าขายหน่วยลงทุนและเงินปันผล ตัวอย่างลายเซ็น หลักฐานการสมัครบริการหักบัญชีโดยอัตโนมัติ และ
- ยืนยันการเปิดบัญชีและรอผลการอนุมัติ
“ทั้งนี้ ‘SCBAM Fund Click’ ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ง่ายและสะดวกเหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่ โดยมีบริการครบครันตั้งแต่การซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุน การเช็คสถานะคำสั่งซื้อขาย ติดตามพอร์ตการลงทุน รวมถึงศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมเพื่อประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนยังสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวในพอร์ตการลงทุน เช่น การสอบถามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ยอดคงเหลือหน่วยลงทุน สรุปการทำรายการแต่ละวัน ผลการจัดสรรหน่วยลงทุน และรายละเอียดหนังสือชี้ชวนฉบับสมบูรณ์แต่ละกองทุน”