นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดการบินในปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ดี จากปัจจัยการปลดธงแดงไอเคโอและการเติบโตตลาดท่องเที่ยว พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-พ.ค.2562) ปริมาณผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมียอดรวมสะสมที่ 44 ล้านคนแล้ว
จึงคาดว่าปริมาณผู้โดยสารตลอดปีจะไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคน เช่นเดียวกับสนามบินหลักอีกแห่ง คือ สนามบินดอนเมือง มองว่าตัวเลขผู้โดยสารตลอดปีจะมากกว่า 50 ล้าน สูงมากเมื่อเทียบกับขีดศักยภาพรองรับผู้โดยสารที่ 45 ล้านคนและ 30 ล้านคนตามลำดับ
ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนขยายสนามบินเพื่อรับมือผู้โดยสาร ในปีนี้จะเร่งเปิดประมูลโครงการขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตก (West-Wing Terminal Expansion) วงเงิน 6 พันล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี รองรับได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน ควบคู่ไปกับการเปิดประมูลรันเวย์ที่ 3 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการระหว่างก่อสร้าง อย่าง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1) รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ขณะนี้ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM) จะแล้วเสร็จในปี 2563 ก่อนเปิดใช้เต็มรูปแบบ ส่วนโครงการอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานนั้นขณะนี้ได้ตัวเอกชนแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้าง
ด้านแหล่งข่าวจากทอท. ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท.ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเปิดประมูลโครงการรันเวย์ที่สาม วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาในเดือนก.ค.นี้ ตอนนี้ทอท.ออกแบบเสร็จแล้ว จะเร่งขั้นตอนจัดทำร่าง TOR ให้แล้วเสร็จเพื่อเปิดประมูลต่อไป ส่วนด้านความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (TER 2) วงเงิน4.2 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการให้โครงการเดินหน้าต่อเพื่อแก้ปัญหาสนามบินล้น
สำหรับเหตุผลที่ไม่สามารถทำตามแผนแม่บทเดิม คือการพัฒนาอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้ (South Terminal) ติดถนนบางนา-ตราด นั้นเนื่องจากยากต่อการบริหารจัดการ(Operation) เพราะตามแผนต้องพัฒนาอาคารจากอาคารหลักฝั่งเหนือลงไปฝั่งใต้ นอกจากนี้ระบบขนส่งสาธารณะยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้า ช่วงบางนา-สุวรรณภูมินั้น ทอท.มองว่าเป็นเส้นทางที่จะไม่มีเอกชนลงทุนในเหตุผลเรื่องของความคุ้มค่า เมื่อยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งมียอดขาดทุนสะสมและใช้เวลานานมากกว่าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจากช่วงปีแรกที่เปิดบริการ มีผู้โดยสารเพียง 30,000 คน/วัน