“เจาะตลาดใหม่กับบีโอไอ” โอกาสแห่งการลงทุน บนเส้นทางการค้าลุ่มแม่น้ำโขง

>>

โดย กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)


ความผูกพันกันในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบไปด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายร้อยปี ทั้งในด้านเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม การค้าและการลงทุน จนอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเราคือ กลุ่มคนเดียวกันที่ต้องอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิตและเชื่อมโยงระหว่างกัน อีกเช่นเคย


ทางกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ จึงได้ออกเดินทางอีกครั้งบนเส้นทางการค้าการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคนี้ โดยในครั้งนี้ทางคณะได้วางแผนสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนลุ่มแม่น้ำโขง โดยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทางได้แก่ เส้นทางแรก (ถนนสายR10):เส้นทางเชื่อมโยงเลียบชายฝั่งทะเล ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เส้นทางที่สอง (ถนนสายR9):เส้นทางเชื่อมโยง ไทย-ลาว-เวียดนาม สำหรับโอกาสแรกจากการสำรวจเส้นทาง R10: ไทย (กรุงเทพ/ตราด)-กัมพูชา(เกาะกง/สีหนุวิลล์)-เวียดนาม(เกาะฟู้กก๊วก/นครโฮจิมินห์) ในเส้นทางสายเลียบชายฝั่งทะเลไทยนั้น มีระยะทางมากกว่า 1,200 กม. เป็นเส้นทางสำคัญที่สามารถขนส่งสินค้าระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามได้ดี

อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองทวายของเมียนมาได้อีกด้วย ที่สำคัญคือมีระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)อยู่ตรงกลาง ทำให้เส้นทางนี้มีโอกาสเติบโตทางการค้าที่สูงขึ้น


นอกจากนี้ยังสามารถจัดการ การท่องเที่ยวทางทะเลได้อีกเช่นกัน โดยสามารถเริ่มออกเดินทางโดยเรือท่องเที่ยวจากท่าเรือคลองลึกจังหวัดตราด เข้าท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ และล่องเรือท่องเที่ยวต่อไปยัง เกาะฟู้ก๊วก แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเวียดนามได้อีกด้วย โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงจากท่าเรือคลองลึก จังหวัดตราด ถึงท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และอีก 2 ชั่วโมงครึ่งไปยังเกาะฟู้ก๊วก ประเทศเวียดนาม จะเห็นได้ชัดว่าโอกาสในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุนของทั้ง 3 ประเทศนี้ มีค่อนข้างมาก แต่จำนวนนักลงทุนที่สนใจลงทุนยังมีไม่มากนัก


ส่วนหนึ่งที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่นั้น ก็น่าจะมาจากการสร้างความมั่นใจของภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน สำหรับโอกาสในประเทศกัมพูชาอุตสาหกรรมที่คนไทยควรไปลงทุนในเวลานี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เช่น เรือท่องเที่ยว โรงแรม และโรงพยาบาล


สำหรับโอกาสที่สองในเส้นทางสาย R9 ไทย(กรุงเทพ/มุกดาหาร)-ลาว(สะหวันนะเขต)-เวียดนาม(ท่าเรือดานัง) เส้นทางดังกล่าวมีระยะทางมากกว่า 1,400 กม. เป็นการ“ตัดขวาง”เชื่อมระหว่างสองมหาสมุทรคือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีจุดเริ่มต้นสำคัญคือเดินทางโดยรถประมาณ 8 ชม.จากกรุงเทพถึงด่านชายแดนไทย-ลาว จ.มุกดาหาร ข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันเขต) ผ่านตอนกลางของ สปป. ลาว โดยใช้เวลาประมาณ 5 ชม.จึงถึงด่านเมืองลาวบาว เพื่อข้ามแดนจากสปป.ลาวไปยังประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้ และจบลงที่ท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม


สำหรับโอกาสในประเทศเวียดนาม อุตสาหกรรมที่คนไทยควรไปลงทุนในเวลานี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ขนมและของทานเล่น น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ เบียร์ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่คนไทยพลาดไม่ได้ในเส้นทางนี้คือการลงทุนใน สปป.ลาว โดยมีโอกาสในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น

  • แปรรูปยางพารา
  • ข้าวโพด
  • ข้าวออร์แกนิค
  • กาแฟ และ
  • ในธุรกิจบริการเช่น โรงแรม ร้านอาหารไทย เป็นต้น

จากการเดินทางที่ยาวไกลมากกว่า 2,500 กม. ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ทราบข้อมูลในแต่ละพื้นที่โดยสามารถแยกข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญบนเส้นทาง ไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม ได้ดังนี้ เมืองสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา เป็นเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วภายหลังการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง 230 กิโลเมตร ที่เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญกับสีหนุวิลล์


ความโดดเด่นของสีหนุวิลล์นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัวอย่างมากจากการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน และการแวะพักของเรือสำราญที่สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากสีหนุวิลล์ไปยังเสียมราฐแล้ว สีหนุวิลล์ยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยเป็นฐานการผลิตสินค้าใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงพนมเปญ สีหนุวิลล์มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 5 แห่ง ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SIHANOUKVILLE SPECIAL ECONOMIC ZONE:SSEZ) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างนักธุรกิจกัมพูชากับจีนนั้น เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา


นอกจากนี้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและการพาณิชย์กำลังเป็นที่น่าจับตามอง โดยมีการพัฒนาโครงการคอนโดมีเนียมจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการติดชายทะเล หลายโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือผู้บริหารบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนที่อาจมีตัวเลขถึง 20,000-30,000 คน สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจในประเทศกัมพูชาได้แก่ ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเช่าที่ดินในเมืองแพง ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงเพราะต้องนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ

เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน สปป. ลาว (SAVAN-SENO SPECIAL ECONOMIC ZONE) ตั้งอยู่ภายในแขวงสะหวันนะเขต เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งแรกของ สปป.ลาว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับนักลงทุนมาเลเซีย มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการดึงดูดและส่งเสริมการลงทุน

  • ด้านการผลิต
  • การส่งออก
  • การค้า
  • การท่องเที่ยว
  • การบริการ
  • ระบบจัดเก็บสินค้า และ
  • การขนส่งผ่านแดนตั้งอยู่บน ทางหลวงหมายเลข 9


ซึ่งอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EAST WEST ECONOMIC CORRIDOR :EWEC) เส้นทางที่เชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GENERALIZED SYSTEM OF PREFERENCE: GSP)


ซึ่งปัจจุบันกิจการที่ลงทุนทุกพื้นที่ใน สปป.ลาว เพื่อการส่งออกจะได้รับสิทธิ GSP จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย เนื่องจาก สปป.ลาวจัดอยู่ใน LDC (LEAST DEVELOPED COUNTRIES)ซึ่งนักลงทุนส่วนมากเข้ามาลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว


นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร โดยยกเว้นภาษีกำไร 2-10 ปี ตามประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน หรืออยู่ในดุลยพินิจของเจ้าแขวง สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจในประเทศ สปป.ลาว ได้แก่ การควบคุมเงินตราต่างประเทศ ปัญหาที่ดิน (ค่าเช่าที่ดินแพง/ที่ดินสัมปทานจากรัฐอาจไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด) การตีความกฎหมายในแต่ละพื้นที่ (แขวง) มีความแตกต่างกัน มีขั้นตอนการลงทุนที่ซับซ้อน และต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รวมถึงขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ


นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามมีสภาพแวดล้อมที่ดีด้านการขนส่งทางถนนทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ โดยมีบทบาทสำคัญของศูนย์กลางสำหรับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้อีกด้วยตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำ GON ห่างจากทะเลตะวันออก 60 กิโลเมตรและ 1,760 กิโลเมตร จากทางทิศใต้ของกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ตั้งอยู่ในใจกลางของตะวันออก เฉียงใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ในภูมิภาค เป็นเมืองที่มีความหลากหลายของเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ดี ส่งผลให้นครโฮจิมินห์กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ที่สำคัญของประเทศเวียดนาม และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


รวมถึงมีสนามบินนานาชาติ TAN SON NHAT สถานีรถไฟไซ่ง่อนและสถานี รถบัสตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อที่ทั้งหมด 2,095 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 8.4 ล้านคน สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจในประเทศเวียดนามได้แก่ขั้นตอนการขออนุญาตและขั้นตอนทางศุลกากรที่ต้องใช้เวลา เอกสารด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดและมีกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงบ่อย


สุดท้ายนี้ทางคณะยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจ เส้นทางการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 180 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หมด


ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็ปไซต์ https://toi.boi.go.th หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เบอร์ อีเมล [email protected]