ตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบการลงทุน 8 หมื่นล้าน

>>

บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลกระทบการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า อาจทำให้งบการลงทุนโครงการได้รับผลกระทบไม่สามารถเดินหน้าได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท  ประเมินรัฐบาลชุดใหม่ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 จะสานต่อการลงทุนได้ ส่วนตลาดหุ้นระยะสั้นยังปรับขึ้นได้จากเงินทุนไหลต่อเนื่อง ลุ้นดัชนีทดสอบ 1,750 จุด ในระยะสั้น


ผ่านการเลือกตั้งมานานกว่า 3 เดือน แต่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ผลที่จะตามมาคือการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆจะมีความล่าช้า และมีความเป็นไปได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว จะกระทบถึงการทำงบประมาณประจำปี 2562 ให้ล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้


ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าจะกระทบกับงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอาจจะช้ากว่าที่ควรจะเป็นกว่า 7 – 8  หมื่นล้านบาท โดย คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส  กล่าวว่า  ตามสภาวะปกติของการทำงบประมาณประจำปีนั้นตามปกติจะเริ่มจัดทำงบประมาณในช่วงเดือนส.ค. เพื่อเตรียมความพร้อมและพิจารณาให้ผ่านการพิจารณาการของสภาได้ในช่วงเดือนต.ค. และเริ่มใช้งบประมาณได้ทัน แต่ในขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลต่างๆยังไม่เรียบร้อย หากรัฐบาลสามารถจัดตั้งได้รวดเร็ว การพิจารณางบประมาณอาจจะเริ่มดำเนินการได้จริงในช่วงเดือนต.ค. และอาจจะเริ่มใช้งบประมาณได้ในเดือนธ.ค.  มีความล่าช้ากว่า 2 เดือน

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

 

 

ผลของความล่าช้านั้นทำให้การเบิกจ่ายงบการลงทุนของภาครัฐจะไม่สามารถทำได้ จะดำเนินการได้เพียงงบประมาณรายจ่ายประจำและงบผูกพันเท่านั้น โดย สศค. อาจจะกระทบกับงบลงทุนใหม่ที่ไม่สามารถอนุมัติได้ทันในช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค. จะทำให้เม็ดเงินลงทุนหายไปราว 7 – 8 หมื่นล้านบาท   


อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของภาครัฐในอดีตอาจจะมีตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก เห็นได้จากการรวบรวมข้อมูลจะพบว่า การเปิดประมูลงานโครงการมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับแผนการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม แต่ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

 

แต่ด้วยการที่รัฐบาลชุดใหม่ มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี อีกสมัยหนึ่งน่าจะช่วยให้งานโครงการต่างๆเดินหน้าต่อได้


สำหรับภาพของตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่ 3 ประเมินว่าจะผันผวนในทิศทางขาขึ้นด้วยแรงหนุนของเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง แม้บล.เอเซีย พลัส จะให้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,699 จุด แต่ในระยะสั้น ด้วยกระแสเงินทุนไหลเข้าอาจผลักดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปทดสอบที่ 1,750 -1,760 จุดได้อีกครั้ง