สิงห์ เอสเตท ยักษ์ที่กำลังจะตื่น

>>

เครือบุญรอด หรือ สิงห์ นับเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยจุดเริ่มต้นของกลุ่มที่เติบโตอย่างโดดเด่นคือ กลุ่มน้ำเมา โดยเฉพาะในกลุ่มเบียร์สิงห์ ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากมาย แต่เมื่อภาพของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลุ่มบุญรอด แตกไลน์ธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือธุรกิจน้ำเมามากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่พวกเขาให้ความสนใจมากที่สุดในระยะหลัง คือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการเติบโตของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S  


จุดเริ่มต้นการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น เริ่มต้นเมื่อกลุ่มสิงห์ ก่อตั้ง “บริษัท พาณิชย์ภูมิพัฒนา จำกัด" ก่อเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรรและอาคารชุดพักอาศัย ต่อมาบริษัทฯ ได้เข้าซื้อ บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นที่ฮือฮาในขณะนั้น และถูกจับตามองอย่างมากจากนักลงทุน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีฐานทุนแข็งแกร่งพร้อมขยายธุรกิจอย่างเต็มที่

             
พร้อมกันนั้นบริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้าง โดยการรับโอนหุ้นสามัญของ บริษัท สันติบุรี จำกัด (“STB”) จากคุณสันติ ภิรมย์ภักดี และหุ้นสามัญของบริษัท เอส ไบรท์ฟิวเจอร์ จำกัด (“SBF”) จาก บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (“SPM”) ซึ่งเป็นการรับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) โดยบริษัทฯ ได้ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญ ของ STB ให้แก่คุณสันติ ภิรมย์ภักดี และเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญของ SBF ให้แก่ SPM และ Singha Property Management (Singapore) Pte. Ltd. 1 (“SPMSG”) และในวันเดียวกัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S



ผ่าอาณาจักร สิงห์ เอสเตท


เมื่อสิงห์ เอสเตท แปลงร่างเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวต่อไปคือการสร้างการเติบโตจากทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานมูลค่าสินทรัพย์ของ S อยู่ที่ 6.29 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท แบ่งออกเป็น  3 ส่วน  คือธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก  ที่อยู่อาศัย และโรงแรม


โดย กลุ่มธุรกิจ อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก ประกอบด้วย

  • อาคาร singha complex     
  • lighthouse
  • suntowers และ
  • การถือหน่วยลงทุนใน กองทรัสต์ Sprime



กลุ่มที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย

  • คอนโดฯ The esse asoke มูลค่า 4.9 พันล้านบาท
  • The esse singha complex มูลค่า 4.3 พันล้านบาท
  • โครงการ santiburi มูลค่า 5.3 พันล้านบาท และ
  • การถือหุ้นในบริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 52%


และ 3 ธุรกิจโรงแรม ประกอบด้วย โรงแรม 39 แห่ง ภายใต้แบรนด์ santiburi outrigger crossroads mercure มีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง

 
( นริศ เชยกลิ่น ผู้พลิกชะตา สิงห์ เอสเตท )


นอกจากความเข้มแข็งของกลุ่ม สิงห์ เอสเตท ที่มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างมากมายแล้ว สิ่งหนึ่งที่ส่วนสำคัญมาก คือผู้บริหารบริษัท ซึ่งบทบาทเปรียบเสมือนเชฟ ถ้าวัถตุดิบดีแค่ไหน แต่คนปรุงมือไม่ถึง ก็ยากที่จะอร่อย ทำให้ สิงห์ เอสเตท เลือก ผู้บริหารดาวเด่นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม อย่าง ‘นริศ เชยกลิ่น’ อดีตผู้บริหาร ของกลุ่มเซ็นทรัล เข้ามานั่งเก้าอี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปรียบเสมือน มาสเตอร์เชฟ ที่ปรุงแต่ง สิงห์ เอสเตท กลายเป็นบริษัทอสังหาที่มีแนวทางการเติบโตชัดเจน และช่วยให้บริษัทแข็งแกร่งในระยะยาว

 


จับตาปีแห่งการเติบโต


สตอรี่การเติบโตด้านผลการดำเนินงานของสิงห์ เอสเตท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอาจไม่ได้หวือหวา แต่วันนี้ สิงห์ เอสเตท กำลังเข้าสู่ช่วงการเติบโตรอบใหม่ โดยล่าสุด สิงห์ เอสเตท วางเป้าหมายรายได้ในปีนี้ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากการเดินหน้ารับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมโครงการ The Esse Asoke และธุรกิจโรงแรมที่เปิดให้บริการเฟสแรกของโครงการ “ครอสโร้ดส์” ในมัลดีฟส์ ทั้ง เดอะ มารีน่า แอท ครอสโรดส์ พื้นที่สำหรับความบันเทิงและร้านค้าปลีกขนาด 11,000 ตารางเมตร มี

  • ร้านอาหารและร้านค้าชื่อดัง 
  • โรงแรม ซาย ลากูน มัลดีฟส์ คูริโอ คอลเล็กชั่น บาย ฮิลตัน และ
  • โรงแรมฮาร์ด ร็อค โฮเทล มัลดีฟส์   


คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้


             

วางเป้าหมาย 5 ปี เป็น บริษัทระดับโลก


ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างนำ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดูแลพอร์ตโรงแรมของกลุ่ม สิงห์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่ม สิงห์ เอสเตท ได้เต็มที่ 


พันธกิจของสิงห์ เอสเตท ใน 5 ปีมีความชัดเจนมาก ที่จะเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก โดยตั้งงบลงทุนมากกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท มีแผนระดมทุนในระยะยาว ทั้ง การออกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีทส์ การทำเครดิต เรตติ้งและการดำเนินการรูปแบบอื่นๆ โดยสิงห์มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในสมาชิกดัชนี Dow Jones Sustainability indices หรือ DJSI ให้จงได้



นักวิเคราะห์ ประเมิน หุ้น
S ถึงเวลาต้องขึ้นแล้ว !!


บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุนของ S ในช่วง 3 ปีที่มา ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ได้แรงหนุนจากการส่งมอบของคอนโดมิเนียม 2 โครงการใหญ่ที่ S ถือ สัดส่วน 100% ซึ่งแรงหนุนของกลุ่มคอนโดมิเนียมจะต่อไปถึงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่เริ่มเห็นการต่อยอดด้วยส่วนแบ่งจาก 2 โครงการใหญ่ของโครงการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ขณะที่ธุรกิจโรงแรมการเปิด 2 โรงแรมใหญ่ในมัลดีฟส์ คาดหนุนให้ธุรกิจเติบโตเด่นและส่งผลบวกต่อการ Spin-Off ของบริษัท ลูกในกลุ่มโรงแรมในช่วงครึ่งปีหลัง


ทั้งนี้ S เตรียมนำบริษัทลูกคือ SHR (S Hotel and Resort) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปีนี้ ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในเครือของ S เช่น สันติบุรี และ Outrigger คาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีโรงแรมในมือ 39 แห่งรวม 4,647 ห้องใน 5 ประเทศ โดยจะเป็นการขาย IPO ไม่เกิน 1,437 ล้านหุ้น โดยเราคาด S จะได้เงินทุน เข้ามาประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปลดหนี้ และเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงการในอนาคต โดยคาด S จะคงสัดส่วนการถือใน SHR หลัง IPO ไม่เกิน 60% 


เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เริ่มต้นคำแนะนำหุ้น S ที่ “ซื้อ” โดยให้ราคาเป้าหมายของ 12 เดือนที่ 4.20 บาท/หุ้น เรามองว่าปีนี้เป็นปี แห่งการเริ่มต้น “การเก็บเกี่ยว” ทั้งในธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม โดย Backlog คอนโดฯ 2 โครงการใหญ่ที่เริ่ม บันทึกรายได้จะหนุนให้ผลประกอบการกลับมาโดดเด่นโดยเฉพาะในช่วง 2H62 ขณะที่ ธุรกิจโรงแรม S เตรียมจดทะเบียน SHR ใน 2H62 เช่นกัน ซึ่งเรามองว่าจะเป็นปัจจัยที่หนุนฐานะการเงินและ Unlock Asset Value ได้ดี

           


จับตา
Convertible Bond กดดันราคาหุ้น


แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ S มี Convertible Bond หรือ หุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐ ออกเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ครบกำหนดวันที่ 20 ก.ค. 2565 มีราคาแปลงสภาพที่ 4.60 บาท/หุ้น และระยะเวลาแปลงสภาพคือ 41 วันภายหลังจากการออกหุ้นกู้และ 10 วันก่อนไถ่ถอน โดยผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพมีสิทธิไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนดในวันที่ 20 ก.ค. 2563


ทั้งนี้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยังไม่รวมการแปลงสภาพไว้ในประมาณการ เนื่องจากทิศทางของราคาหุ้นและราคาเป้าหมายที่เราให้ ยังคงต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ หากแต่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะและเกิดการแปลงสภาพจะทำให้เกิด Dilution บนสมมติฐานของเราได้ โดยจำนวนหุ้นที่สำรองสำหรับการแปลงสภาพทั้งหมดคือ 1,500 ล้านหุ้นหรือประมาณ 22% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ชำระแล้วในปัจจุบัน กรณีที่เกิดการไถ่ถอนก่อนกำหนด คือในปี 2563 เราคาดว่า S สามารถชำระหนี้ได้หากประมาณการเป็นไปตามคาด โดยเฉพาะการบันทึกรายได้ของคอนโดฯ และธุรกิจโรงแรม


อย่างไรก็ตาม สิงห์ เอสเตท อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา น่าจะส่งผลดีกับหุ้น S ระยะ 1-2 ปีจากนี้เติบโตอย่างโดดเด่น แต่สิ่งที่ท้าทาย สิงห์ เอสเตท คือ การเดินไปสู่เป้าหมายระยะยาว ที่ต้องการเป็นบริษัทระดับโลก และเข้าสู่ทำเนียบ DJSI จะสามารถเดินหน้าได้ตามแผนงานหรือไม่ ซึ่งเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์


ขอบคุณข้อมูล

https://www.boonrawd.co.th

https://www.thebangkokinsight.com