คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : จักรวาลของ ‘ช่องวัน’ ในอุตสาหกรรมทีวี

>>

หลัง กสทช. สลับไพ่ เอาคลื่นความถี่ 700 MHz ของทีวีดิจิทัล โยกไปเป็นคลื่น 5G รอจัดสรรให้กลุ่มโทรคมนาคม เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศที่ดูอึนๆ ในอุตสาหกรรมทีวี กลับมามีความหวังมากขึ้น เพราะบรรดาผู้เล่นที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ต่างเฟดตัวเองออกไป ส่วนพวกที่เหลืออยู่ ถือว่า “ธรรมชาติคัดสรร” มาแล้ว ตามทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน ก็ต้องตะกายดาวกันต่อไป


ช่องวัน 31” เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ของกลุ่มทุน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เริ่มมีอนาคตขึ้นมารำไร หลังไม่ต้องจ่ายค่างวดประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 และงวดที่ 6 แถมยังได้เว้นค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดใบอนุญาตที่เหลืออยู่ถึงปี 2572 ทำให้ช่องวันมีเวลาหายใจเต็มปอดได้พักใหญ่ ในการคิดกลยุทธ์คอนเทนต์ไปแข่งมาราธอนกับขาใหญ่ในอุตสาหกรรม และดวงดาวที่ช่องวันฝันใฝ่ คือเป็นสถานีอันดับ 3 ต่อจาก ช่อง 7 และช่อง 3  


ปีที่แล้ว (2561) ช่องวันเพิ่งคืนฟอร์มกลับมาทำกำไรเป็นครั้งแรก 28 ล้านบาท ปีนี้จึงฟิตซ้อมเต็มที่ เพื่อผลักดันรายได้ให้เพิ่มขึ้น 15% และมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ก่อนจะแต่งหน้าทาปากธุรกิจ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนปลายปี 2563


“เรตติ้งในช่วงไพร์ทไทม์ของช่องวันดีขึ้นเป็นลำดับ จากเดือน ม.ค. ของปีนี้ อยู่อันดับ 6 พอเข้าเดือน ก.พ. ขยับมาเป็นอันดับ 5 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง พ.ค. ขึ้นมาอยู่อันดับ 3” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่องวัน 31 มองสัญญาณเชิงบวก


ช่องวันกำหนดกลยุทธ์ว่าด้วยเรื่องของ การเป็นจุดหมายปลายทาง (destination) ของคนที่ชื่นชอบดูคอนเทนต์แบบช่องวัน ไม่ว่าจะดูสด ดูแห้ง ก็ขอให้อยู่ในระบบนิเวศน์ของช่องวัน ที่ยืนหนึ่งในเรื่องของการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม (ฮาร์ดแวร์) และคอนเทนต์ (ซอฟแวร์)


ปัจจุบัน ดิจิทัล แพลตฟอร์มของช่องวัน สามารถเข้าถึงกลุ่มคนดู 40 ล้านคน หรือ 75% ของผู้ใช้โมบาย อินเทอร์เน็ต โดยมี Line TV เป็นช่องทางหลักอันดับ 1 มีผู้ติดตาม 2.3 ล้านคน ยอดวิว 4,000 ล้านวิวต่อปี


ขณะที่ YouTube ได้รับความสนใจจากบรรดาติ่งช่องวัน นำมาเป็นอันดับ 2 มีสมาชิก 16.8 ล้านคน ยอดวิว 11,900 ล้านวิวต่อปี และสุดท้าย อันดับ 3 กลุ่มคนดูผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น 6 ล้านคนต่อเดือน


ในขณะที่ช่อง 3 ให้เวลากับละครหลังข่าวเรื่องเดียว ลากยาว 2.30 ชั่วโมงเต็มอิ่ม อาทิตย์ละ 3 เรื่อง แต่วิธีคิดของช่องวันกลับต่างออกไป แทนที่จะเสิร์ฟอาหารจานหลักเป็นเรื่องๆ ช่องวันเลือกที่จะทำเป็นเมนูเซ็ตเพื่อสร้างความแตกต่างและหลากหลาย ทั้งประเภทของละคร วาไรตี้ เกมโชว์ และซิทคอม โดยอาศัยความพร้อมของทีมงานที่มีอยู่ครบเครื่อง ทั้งนักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบท ครีเอทีฟ และทีมผลิต เปรียบเสมือนศูนย์การค้า all in one


ความกล้า (ผสมลูกบ้า) ที่จะแตกต่างของช่องวัน มาจากเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่ไม่ซ้ำแบบใครของ บอย ถกลเกียรติ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เขากำกับละครที่แปลกแหวกแนวเรื่อง “นางฟ้าสีรุ้ง” จนได้รับฉายาว่าเป็นผู้กำกับมือทอง แต่แทนที่เขาจะต่อยอดความสำเร็จจากละครแนวนี้ เขากลับฉีกแนวไปสร้างความสำเร็จใหม่ๆ ด้วยการผลิตละครซิทคอม “สามหนุ่มสามมุม” ที่ดังเปรี้ยงปร้างและยืนระยะความสำเร็จติดต่อกันถึง 8 ปีเต็ม จนเป็นที่รับรู้กันว่าถ้าเป็นละครของ บอย ถกลเกียรติ มันจะไม่ธรรมดา


“ความสำเร็จของช่องวัน นอกจากต้องตีรสนิยมของผู้บริโภคให้แตกแล้ว ผู้ผลิตต้องเสิร์ฟคอนเทนต์ที่มาจากความรักความชอบด้วย เพราะถ้าหากกำหนดรูปแบบสินค้าจากความนิยมของคนดูล้วนๆ ในอนาคตความคิดของผู้ผลิตจะตกอยู่ในอาการตีบตัน” เขาบอกเล่ากับนิตยสาร Trust


ถกลเกียรติเชื่อว่า การทำงานอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ใช่แต่แรก อย่าไปดันทุรัง เพราะความดื้อด้านดันทุรัง ไม่เคยทำให้งานออกมาดี และเมื่อใดที่ความคิดตัน ไปต่อไม่ได้แล้ว ก็จงหยุดมันเสีย สำหรับเขาแล้วธุรกิจบันเทิงเป็นเรื่องของศิลปะการแสดง ไม่ใช่โรงงานผลิตสินค้า


“เราไม่สามารถผลิตของให้เหมือนกันได้ตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าเรายังผลิตงานในมุมเดิมๆ คนดูจะหนีไปเสพงานช่องอื่น”


ความสำเร็จที่ผ่านมาของช่องวัน ทั้งในแง่ของเรตติ้งและรายได้ จึงมาจากการทำงานอย่างหนัก ลองผิดลองถูก และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขมันอย่างไม่หยุดหย่อน โดยไม่ละทิ้งความเชื่อที่ว่า ความแตกต่างนำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จที่ยืนยาวและคงทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ทุกคนหายใจเข้าออกเป็นโซเชียลมีเดีย ทำอย่างไรให้คนดูไม่ทิ้งทีวี และมองว่ามันเป็นเพื่อนเวลาที่เราอยู่บ้าน


ครึ่งปีหลัง 2562 นี้ ช่องวันปูพรมละครไพร์มไทม์ ตั้งแต่ 19.00-22.30 น. ไว้เต็มแม็ก แบ่งเป็น 3 ช่วงหลักคือ 19.00 น. เน้นละครจับกลุ่มครอบครัว 20.00 น. เน้นละครจับกลุ่มแมส หวือหวามากขึ้น และ 21.20 น. เป็นละครเฉพาะกลุ่ม ระดับ น.13 จับกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่เพิ่งถึงบ้าน และกลุ่มคนในเมืองใหญ่ โดยละครที่เตรียมลงจอทั้ง 3 ช่วงหลัก ได้แก่

  • เรือนไหมมัจจุราช
  • สงครามนักปั้น 2
  • เสียงเอื้อนสะเทือนดาว
  • ภูตพิศวาส
  • ฤกษ์สังหาร และ
  • รักย้อนเวลา        


ช่องวันมีระบบจักรวาลเป็นของตัวเอง ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานของตัวเอง มีคอนเทนต์ในแต่ละสล็อตเวลา ที่ถูกออกแบบเป็นชิ้นงานศิลปะจัดเรียงกัน ราวกับอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ท่ามกลางการแข่งขันของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ที่กำลังดิ้นรนกันสุดฤทธิ์ในยุคข้าวยากหมากแพงของวงการทีวี


การเรียนรู้ที่จะผสมผสานงานศิลปะเข้ากับการทำธุรกิจ ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน หลังผ่านมาหลายบทเรียน จากนี้ไปจะเป็นอีกบทพิสูจน์ว่า ช่องวันจะสร้างตัวเองให้แข็งแกร่งและเป็น “เดอะวัน” ในแบบของตัวเองได้อย่างไร


­­­
(ที่มา www.tvdigitalwatch.com)

 

เรื่องน่ารู้ของ “ช่องวัน 31”

รายได้หลักของช่องวันมาจากโฆษณาทีวี 70% แบ่งเป็นรายได้โฆษณาจากละคร 50%


ในช่วงที่ธุรกิจทีวีดิจิทัลกำลังบักโกรกก่อนถึงเทศกาลคืนช่อง ช่องวันจำเป็นต้องดึงกลุ่มทุน “ปราสาททองโอสถ” เข้ามาช่วยเยียวยาธุรกิจ โดยเข้ามาลงทุนเพิ่มร่วม 2 พันล้านบาท และถือหุ้น 50% ในนาม บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ขณะที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นช่องวัน 31.27%

  • ปี 2561 ช่องวันเข้าถึงผู้ชมคนไทย 94% หรือ 62 ล้านคน ปีนี้บริษัทวางเป้าหมายเข้าถึงผู้ชมคนไทย 98% หรือ 64 ล้านคน

  • ละครพีเรียดรสแซ่บ ซีรีส์ “เรือน” ได้แก่ เรือนเสน่หา เรือนร้อยรัก และเรือนเบญจพิษ กลายเป็นซับแบรนด์ที่ทำให้คนรู้จักช่องวันมากขึ้น โดยผลิตออกอากาศปีละเรื่อง ปีนี้เข้าปีที่ 4 ของซีรีส์เรื่องนี้ ชื่อว่า เรือนไหมมัจจุราช มีกำหนดแพร่ภาพปลายปีนี้

  • ช่องวันเชื่อว่า ในโลกยุคใหม่ของคอนเทนต์ละคร แค่มีพระเอก นางเอก และผู้ร้าย ไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องมีมากกว่านั้น และต้องหามันให้เจอ เพราะดาราและโปรดักชั่นแต่ละช่องเหมือนกันหมด สวยหล่อแทบจะไม่แตกต่าง

  • บอย ถกลเกียรติ มองว่า การเอาชนะใจคนดู ต้องเอาความเป็นเลิศของตัวเอง บวกกับประสบการณ์ และความรู้ เอามาสร้างความต่าง แล้วอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อตอบโจทย์คนดู

  • ความจริงที่ว่า สุดท้ายแล้วคอนเทนต์ที่แข็งแรงจะเป็นผู้ที่อยู่รอด ช่องวันจึงต้องสร้างคอนเทนต์ที่ดีที่สุดเพื่อให้ธุรกิจไปรอดและติดลมบน