ดึงอียูร่วมแก้น้ำท่วมกรุงเทพ แบบเบ็ดเสร็จ

>>

สทนช.จับมือกระทรวงต่างประเทศ ถกกรอบความร่วมมือ นำเทคโนโลยีระบบป้องกันน้ำท่วม จากประเทศกลุ่มยุโรปปรับใช้ในไทย หวังแก้น้ำท่วม กทม.


นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้หารือร่วมกับ นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางผลักดันกรอบความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การติดตามพยากรณ์ฝน อากาศ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบประมวลผลที่แม่นยำ


ตลอดจนโครงสร้างในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครแบบเบ็ดเสร็จ โดยเบื้องต้นกรมยุโรป พร้อมสนับสนุนและอำนวยการในเรื่องการทำบันทึกความเข้าใจระหว่าง สทนช. กับประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปภายใต้ความร่วมมือแบบทวิภาคี


ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กองการต่างประเทศ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่ที่มีภารกิจในการจัดทำความตกลงด้านทรัพยากรน้ำกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ตามร่างกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ...... เป็นหน่วยประสานงานหลักกับกรมยุโรป เพื่อพิจารณาหารือในรายละเอียดก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีต่อไป


สำหรับเทคโนโลยีด้านน้ำที่ประเทศไทยให้ความสนใจจากกลุ่มประเทศอียูซึ่งมีความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  1. ระบบการติดตามพยากรณ์สถานการณ์ฝน น้ำท่วม พื้นที่เสี่ยง การจัดทำฐานข้อมูลระบบน้ำ

  2. เครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในโครงข่ายระบบส่งและระบายน้ำ กำแพงป้องกันตลิ่งทั้งแบบถาวรและถอดประกอบ การพัฒนาระบบท่อระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ รวมถึงคู คลอง เพื่อผันน้ำลงสู่แม่ให้เร็วขึ้น

  3. ระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย อาทิ พื้นที่ซับน้ำในพื้นที่เมือง เทคโนโลยีการจัดการพื้นที่แก้มลิงทั้งผิวดินและน้ำใต้ดิน ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ความเสี่ยงและการปรับปรุงแม่น้ำ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย การบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย เป็นต้น


“การนำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างและหลากหลายมาแลกเปลี่ยนความร่วมมือผ่านเอ็มโอยูระหว่างกันในรูปแบบทวิภาคี จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านน้ำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ เขตชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น สทนช.จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยน หารือ กรอบแนวทางความร่วมมือในโครงการที่ประเทศไทยมีความต้องการและจำเป็น และสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานปฏิบัติที่รับผิดชอบงานด้านน้ำในแต่ละด้านนำไปปรับใช้ โดยพิจารณาคัดเลือกเทคโนโลยีจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยประสบอยู่ และมีกรณีศึกษาให้ไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายสมเกียรติ กล่าว