นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีเรื่องเงินบาท ทางผู้บริหาร ธปท. หารือกันแล้วและเห็นว่าถ้ามีคำแถลง (statement) ออกไปจากธปท. ในภาวะที่ยังไม่ได้มีข้อมูลใหม่ออกไปจะไปเป็นการสร้างสัญญาณ (noise) ในตลาดให้มีการเก็งกำไร (speculate) คาดการณ์กันไป
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งกระทบการส่งออกและเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องดูแล
ก่อนหน้านี้ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งเข้ามาดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่ามากขึ้นไปกว่านี้ และเห็นว่าค่าเงินบาทอัตราที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจประเทศ ควรอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่า
เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีผลกับภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งหากค่าเงินยังค่าแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่เข้ามาดูแล อาจทำให้รายได้ที่กลับเข้ามาประเทศลดลง ไม่เกิดการสะพัดทางการเงิน ส่งผลให้ภาคการเกษตร หรือกำลังซื้อระดับล่างลดลงได้ตามมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธปท. ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าทำให้บาทแข็งค่า หลังจาก เงินบาทแตะระดับค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ที่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันที่ 1 ก.ค. 2562)
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย คาดว่า ธปท. จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับ 1.75% เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่า ซ้ำเติมธุรกิจส่งออก