“ภาษีในชีวิตประจำวัน”...ที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจ ‘คลาดเคลื่อน’ (1)

>>

“ภาษี” คือ เงินที่รัฐเรียกเก็บจากบุคคลหรือนิติบุคคล ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งวิธีที่รัฐเรียกเก็บเงินภาษีนั้นมีหลายวิธี เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (แต่เดิมคือภาษีโรงเรือน กับ ภาษีบำรุงท้องที่) เป็นต้น


นอกจากวิธีการเรียกเก็บที่หลากหลายแล้ว ยังมีรูปแบบการเรียกเก็บที่หลากหลายด้วย เช่น เรียกเก็บภาษีเป็นเงินสด หรือ เรียกเก็บภาษีผ่านอากรแสตมป์ เป็นต้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เกิดความสับสน หรือเข้าใจผิดว่า รายได้บางอย่างไม่ต้องเสียภาษี หรือ อัตราภาษีที่ต้องจ่ายนั้น เป็นอัตราเดิมที่เคยจ่ายภาษีในปีก่อน


บทความชุดนี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างของภาษีในชีวิตประจำวันที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจคลาดเคลื่อน 2 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ‘อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่เรียกเก็บ และ ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ที่ได้จากการชิงโชค ดังนี้



“ภาษีมูลค่าเพิ่ม”...ตกลงแล้วเรียกเก็บเท่าไหร่กันแน่?


ช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวเป็นระยะว่า รัฐจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 9% หรือ มีข่าวว่ารัฐจะลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 6.3% ซึ่งสร้างความสับสนว่า ตกลงแล้วจะขึ้นอัตราภาษีหรือลดอัตราภาษีกันแน่ หรือจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราเท่าไหร่ แล้วราคาสินค้าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง


ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น เรียกเก็บครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้ตัวภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 90% ของอัตราภาษีที่เรียกเก็บทั้งหมด ส่วนอีก 10% ที่เหลือคือภาษีท้องถิ่น ณ เวลานั้นรัฐได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% ดังนั้นตัวภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียว จึงมีอัตราเรียกเก็บที่ 6.3% (90% ของ 7%) และภาษีท้องถิ่นมีอัตราเรียกเก็บที่ 0.7% (10% ของ 7%)


“ต่อมาในปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 10% ทำให้ตัวภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวมีอัตราเรียกเก็บที่ 9% (90% ของ 10%) และภาษีท้องถิ่นมีอัตราเรียกเก็บที่ 1% (10% ของ 10%)”


อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ในช่วงเวลาสั้นๆ รัฐออกกฎหมายเพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากอัตราที่กำหนดในกฎหมาย 10% เป็น 7% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของประชาชน และไม่ขัดกับข้อตกลงที่ทำไว้กับ IMF โดยภาษียังก็บ 10% อยู่ แต่ออกกฎหมายมาให้ส่วนลดภาษีเป็นระยะเวลา 1 ปีเท่านั้น


“หลังจากนั้นรัฐบาลทุกชุด ได้ออกกฎหมายลดอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน”


สรุปคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม “ตามที่ระบุในกฎหมาย” ของไทยอยู่ที่ 10% โดยแบ่งเป็นตัวภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% และ ภาษีท้องถิ่นอีก 1% แต่รัฐออกกฎหมายเพื่อ “เรียกเก็บจริง” อยู่ที่ 7% โดยเป็นตัวภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% และ ภาษีท้องถิ่นอีก 0.7%


หลังจากนี้หากผู้อ่านไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 669) พ.ศ. 2561 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2561 แล้วพบว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บเป็นร้อยละ 6.3 จะได้เข้าใจตรงกันว่า นั่นคือการออกกฎหมายเพื่อให้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราปัจจุบัน (7%) ไม่ใช่การลดอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลงแต่อย่างใด


ในครั้งถัดไป ผู้เขียนจะนำเรื่องความเข้าใจ
คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับภาษีในชีวิตประจำวันเรื่องที่ 2 คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้จากการชิงโชค เช่น รางวัลจากการชิงโชค รวมถึง สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือหวยใต้ดิน ที่หลายคนคิดว่าไม่ต้องจ่ายภาษี แต่แท้จริงแล้วตามกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร มานำเสนอให้ผู้อ่านเพื่อเป็นข้อมูลต่อไป


ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่
LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th

YOU MIGHT ALSO LIKE