บอนด์ ยีล ลดลง ดันดัชนีสิ้นปี 1,800 จุด กสิกรไทยแนะลงทุนหุ้นอิงเศรษฐกิจภายในประเทศ

>>

ดัชนีจากต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,720 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 10 % แม้จะขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นต่อได้ โดย นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2562 มองว่า หากสามารถผ่านแนวต้านที่สำคัญที่ 1,760 จุดได้ มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีหุ้นไทยแตะที่ระดับ 1,800 จุดได้ในสิ้น 2562


ทั้งนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นไทยดังกล่าว เป็นผลมาจาก ถ้อยแถลงนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลาย (dovish) จากกลุ่มธนาคารกลางสำคัญๆเช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) ปรับตัวลดลง ขณะที่ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ


ส่วนปัจจัยทางการเมือง คาดว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ของเราว่า โดยจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ค. และรัฐบาลใหม่จะเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านรายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการผลิตของภาคเกษตร ฯลฯ


อย่างไรก็ตาม ไม่คาดว่าการปรับเพิ่มค่าแรงจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นแบบเร่งด่วนนี้ โดยปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง คือ ภายหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายแรกที่จะออกมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน และมีผลต่อเศรษฐกิจทันที เช่น มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ


ด้านเงินบาทไทยก็ยังแข็งอยู่ เพราะคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางหลักในภูมิภาคได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องจะก่อให้เกิดแรงกดดันต่อภาคส่งออก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์


นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม การประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย ในวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ยังมองว่า ธปท. จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ต่อปี เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย และเสถียรภาพทางการเงินเอาไว้


“สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยใน 12 เดือนข้างหน้า  บล.ได้ปรับเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนเป็น 1,775 จุด จากเดิม 1,725 จุด โดยเมื่ออิงจากการวิเคราะห์ของเรา จะพบว่า bond yield ที่ลดลง 0.32% ในช่วงวันที่ 10 พ.ค.- 21 มิ.ย. ส่งผลให้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 68 จุด ซึ่งทำให้ค่า PER ของตลาดปรับเพิ่ม (rerating) เป็น 16.22 เท่า และที่น่าสนใจที่สุดคือส่วนต่างผลตอบแทนตลาดยังคงอยู่ที่เดิมในระดับ 4.22%” นายภาสกร กล่าว

 


แนะลงทุนหุ้นอิงเศรษฐกิจภายในประเทศ

เรายังคงเลือกหุ้นที่เกี่ยวโยงกับปัจจัยภายในประเทศ โดย  KTB และ DTAC   มี upside ปัจจัยบวกที่สำคัญที่สามารถผลักดันราคาหุ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้ ทั้งนี้ เราเชื่อว่ากลุ่มและหุ้นที่เราชอบจะสามารถต้านทานความผันผวนของตลาดได้ อิงจากมุมมองจากปัจจัยพื้นฐานสู่ภาพรวมตลาด (bottom-up) ของเรา เนื่องจากกลุ่ม/หุ้นแต่ละบริษัทต่างมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวที่ชัดเจน


กลุ่มพาณิชย์ (CPALL)  โดยบล.กสิกรไทย ชอบกลุ่มนี้ เพราะเชื่อว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล และจากโอกาสที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัด


กลุ่มสินค้าเกษตร (CPF)  กลุ่มนี้ในแง่ของกำไรที่แข็งแกร่งในปี 2562 โดยเลือก CPF เป็นหุ้นเด่นเพราะมีราคาเนื้อสุกรที่แข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 2562 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ในเวียดนาม


กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (CK และ STEC) กลุ่มนี้ตรงที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากการประมูลโครงการภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่


กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ (KTB และ SCB) ให้น้ำหนักกับธนาคารขนาดใหญ่ เพราะคาดว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (CI ratio) และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) จะยังปรับลดต่อเนื่อง ขณะที่การก่อตัวของหนี้เสียใหม่ (NPL) ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2561


กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFFIF) ใน 4 หัวข้อ คือ  1. มีอายุกองทุนเหลืออยู่ 29 ปี 2. กระแสรายได้ที่มั่นคง 3) ความผันผวนต่ำ และ 4) โอกาสที่จะมีการอัดฉีดสินทรัพย์โดยรัฐบาล


กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA)  มีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มนิคมฯ เพราะมีสถานะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และจากการย้ายฐานโรงงานจากจีน


กลุ่ม ICT (DTAC และ TRUE) มีมุมมองเป็น “บวก” ต่อกลุ่มนี้เพราะคาดว่า 1.ตลาดจะมองบวกต่อทิศทางการเติบโตด้านรายได้ของอุตสาหกรรมมือถือมากขึ้น หลังจากมีการแข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง 2.ตลาดประเมินโอกาสการปรับลดของต้นทุนจากการยุติบริการ 2G ที่น้อยเกินไป และ 3.ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 5G และวัฏจักรการลงทุน (CAPEX) ในอนาคตมากเกินไป