“ภาษีในชีวิตประจำวัน”...ที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจ ‘คลาดเคลื่อน’ (จบ)

>>

จากทั้ง 2 ตอนที่ผ่านมาของชุดบทความนี้ จะเห็นได้ว่ามีหลายประเด็นที่คนทั่วไปอาจเข้าใจคาดเคลื่อนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ และครั้งนี้ผู้เขียนขอจบชุดบทความด้วยภาษีที่เกี่ยวข้องกับ ‘สลากกินแบ่งรัฐบาล’ และ ‘หวยใต้ดิน’ รวมถึง ‘การพนันออนไลน์’ ดังนี้



สลากกินแบ่งรัฐบาล ถ้าถูกรางวัล ต้องจ่ายภาษีด้วยหรือ? ไม่เห็นมีใครบอกเลย


ผู้ได้รับรางวัลจากสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น แม้ไม่ต้องนำเงินรางวัลที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินรางวัลเต็มจำนวน เนื่องจากผู้ได้รับรางวัลจะมีภาระภาษีผ่านการจ่ายค่า อากรแสตมป์


อัตราอากรแสตมป์สำหรับการรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ระบุไว้ในประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2525 อยู่ที่อากรแสตมป์ 1 บาท ต่อรางวัล 200 บาท (คิดเป็น 0.5% ของเงินรางวัล) โดยเศษของ 200 บาท เสียอากรแสตมป์ 1 บาท เช่นกัน

ตัวอย่าง หากถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 6,000,000 บาท ต้องจ่ายอากรแสตมป์ 30,000 บาท ได้รับเงินรางวัลจริง 5,970,000 บาท


ขณะนี้กรมสรรพากรได้ศึกษาเพื่อปรับอัตราอากรแสตมป์ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดที่จะเก็บอากรแสตมป์สำหรับการรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในอนาคต (รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ไว้ที่ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท เสียอากรแสตมป์ 40 บาท (คิดเป็น 2% ของเงินรางวัล) ดังตัวอย่าง หากถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 6,000,000 บาท ต้องจ่ายอากรแสตมป์ 120,000 บาท ได้รับเงินรางวัลจริง 5,880,000 บาท


สรุป เงินรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้ได้รับรางวัลมีหน้าที่ชำระภาษีให้รัฐในรูปของอากรแสตมป์ ไม่ใช่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 


หวยใต้ดิน หรือพนันออนไลน์ เงินได้ไม่ถูกกฎหมายอย่างนี้ ไม่ต้องยื่นภาษีหรอก?


กรณีหวยใต้ดิน มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2555 ระบุไว้ชัดเจนว่า “เงินได้จากการเล่นพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) แม้เป็นเงินได้ที่มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ตามมาตรา 40 (1) ถึง (7) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)” ดังนั้นเมื่อมีรายได้จากการเล่นหวยใต้ดิน จำเป็นต้องนำเงินที่ได้ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย


ส่วนพนันออนไลน์นั้น นอกจากจะเข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินที่ดูแลโดยปปง. แล้ว ยังถือเป็นเงินได้ประเภท 8 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 เช่นกัน

โดยปกติเจ้าของกิจการพนันออนไลน์จะต้องจดบันทึกการจ่ายเงินให้กับผู้เล่น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และเมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้เล่น กรมสรรพากรมีสิทธิให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลให้ตรวจสอบได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อมีรายได้จากการเล่นพนันออนไลน์ จึงจำเป็นต้องนำเงินได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับกรณีหวยใต้ดิน


“สรุป ต่อให้รายได้นั้นไม่ถูกกฎหมาย แต่โดยข้อเท็จจริงของกฎหมาย ยังต้องมีภาระนำรายได้นี้มารวมคำนวณภาษีเงินได้ด้วย มิเช่นนั้นจะถือว่าทำผิดกฎหมายภาษีอีกกระทง”


จากตัวอย่างในบทความที่ผ่านมาทั้ง 3 ตอน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาษีในชีวิตประจำวันที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งหากจัดการภาษีไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด จะส่งผลให้เกิดภาระภาษีเพิ่มเติมจาก
ค่าปรับและเงินเพิ่มได้ ผู้เขียนหวังว่าบทความชุดนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องภาษีมากขึ้น และเสียภาษีได้อย่างถูกต้องในอนาคต


ติดตามอ่านบทความตอนที่1 ได้ที่...https://bit.ly/2XuUNXL 

ติดตามอ่านบทความตอนที่2 ได้ที่... https://bit.ly/2L58ANM


ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่
LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th

YOU MIGHT ALSO LIKE