ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดรายงานนโยบายการเงิน ธ.ค.61 มองเศรษฐกิจไทยปี 62 โตชะลอตามแรงส่งอุปสงค์ต่างประเทศ
>>
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ธ.ค.61 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน และการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
โดยการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาส 4/61 กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ ได้ชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านในการกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ดังนี้
การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 14 พ.ย.61 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปีและการประชุมวันที่ 19 ธ.ค.61 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งล่าสุดกรรมการ กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอ ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาจึงลดน้อยลง และควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) สำหรับอนาคต โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบดังกล่าวต่อความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปได้ดูแลความเสี่ยงในบางจุดไปบ้างแล้ว
กนง.เห็นว่ามองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยอาจไม่ต่อเนื่องดังเช่นในอดีต โดย กนง.จะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (Data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
สำหรับการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ในด้านของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 3/61 ของหลายประเทศขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แรงส่งเศรษฐกิจของหลายประเทศยกเว้นสหรัฐฯ ปรับลดลง รวมทั้งความไม่แน่นอนจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ และสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป กนง.จึงปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในปี 61 และ 62 มาอยู่ที่ 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ โดยมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรณีฐานมากขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่เริ่มลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงิน เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงทยอยปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไป ธนาคารกลางยุโรป จะยุติการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่ม ณ สิ้นปี 2561 ตามที่ประกาศไว้ แต่จะยังคงซื้อพันธบัตรที่ครบกำหนด (roll-over) และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2562 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น จะยังคงเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวต่อไปอีกระยะหนึ่ง
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) เนื่องจากนักลงทุนเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปเพิ่มขึ้น
สำหรับภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทยนั้น มองว่าภาวะการเงินไทยยังคงผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ทรงตัวในระดับต่ำ สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวได้ดี ทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน รวมทั้งภาคธุรกิจระดมทุนผ่านตราสารหนี้และตราสารทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากสิ้นไตรมาสก่อน จากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนในต่างประเทศ
เสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม ได้แก่
(1) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)
(2) ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีความเปราะบางสะสมในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์
(3) หนี้ครัวเรือนแม้จะลดลงอย่างช้าๆ แต่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ 4.2% และ 4.0% ในปี 61 และ 62 ตามลำดับ ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงินฉบับก่อน โดยแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลงตามปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี
โดยการส่งออกสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์โลก ขณะที่การส่งออกบริการ มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้า ส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม เนื่องจากการลงทุนมีความล่าช้าในบางโครงการ ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ปรับลดลงตามการเลื่อนการลงทุนของโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่อยู่ระหว่างทบทวนลำดับความสำคัญของโครงการ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงเดิม แต่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ
ประมาณการอัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แม้จะถูกชดเชยด้วยผลจากค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่จะปรับเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย จากการปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ กนง.จึงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 และ 62 ที่ 1.1% และ 1.0% ตามลำดับ และประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2561 และ 2562 ที่ 0.7% และ 0.9% ตามลำดับ
ขณะที่ความเสี่ยงที่ประมาณการเศรษฐกิจจะต่ำกว่ากรณีฐานมีมากขึ้น ตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรอาจออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) มีมากขึ้น ทั้งนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก
(1) ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
(2) การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจต่ำกว่าคาด
(3) การบริโภคภาคเอกชนอาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังขยายตัวไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร
(4) การใช้จ่ายภาครัฐอาจต่ำกว่าคาด จากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐ
สำหรับโอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานมาจาก
(1) เศรษฐกิจจีนชะลอตัวน้อยกว่าที่คาด
(2) การใช้จ่ายภายในประเทศอาจมากกว่าคาด จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการ PPP รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน
สำหรับความเสี่ยงที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะต่ำกว่ากรณีฐานมีมากขึ้น ตามความเสี่ยงของประมาณการเศรษฐกิจ และความเสี่ยงของราคาน้ำมันที่โน้มไปด้านต่ำมากขึ้น
ที่มา: www.bot.or.th/