ทวิตเตอร์เผย 10ท็อปแบรนด์ไทย

>>

กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โทรคมนาคม และธนาคาร ติดอันดับแบรนด์ยอดนิยมสูงสุดในทวิตเตอร์ในไตรมาสแรกปี 2562


ทวิตเตอร์นับเป็นแพลตฟอร์มซึ่งขับเคลื่อนโดยผู้ใช้ที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันหลายแบรนด์ต่างสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมทวิตเตอร์เพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ทวิตเตอร์ได้ประกาศ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำในไทยเป็นครั้งแรก โดยวัดจากการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 (ระหว่าง 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2562) แบรนด์ที่ติดอันดับนั้นมีทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โทรคมนาคม และธนาคาร


ทวิตเตอร์ช่วยแบรนด์ต่างๆในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคได้แบบเรียลไทม์ และยังรับรู้ถึงกระแสตอบรับของผู้บริโภคเกี่ยวกับแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ และบริการ ทั้งนี้แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกรู้ดีว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ตาม อีกทั้งเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนสังคม บทสนทนาและเป็นผู้กำหนดเทรนด์


นายอาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการ ทวิตเตอร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนตามความสนใจของผู้ใช้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างบนทวิตเตอร์ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ทวิตเตอร์แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด เปิดกว้าง ชอบค้นหา และมักลองสิ่งใหม่ๆก่อนเสมอ ทำให้บรรดาแบรนด์ต่างๆ หลั่งไหลมาใช้ทวิตเตอร์เพิ่มมากยิ่งขึ้น


การรายงาน #BrandsOnTwitter ประเทศไทยถือเป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงผลชัดเจนว่ามีแบรนด์ที่หลากหลายเข้ามาใช้ทวิตเตอร์ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคและสังคมทวิตเตอร์ ตั้งแต่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ ร้านค้าปลีก ไปจนถึงกลุ่มการเงินและธนาคาร ซึ่งทำให้เห็นว่า แบรนด์ต่างๆ เหล่านี้กำลังใช้แพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ในการสร้างฐานการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อช่วยสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค


สำหรับ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำบนทวิตเตอร์ไทย ไตรมาสแรก ปี 2562

  1. AIS (@AIS_Thailand)
  2. Oishi Drink Station (@OishiDrinkTH)
  3. Watsons Thailand (@WatsonsThailand)
  4. Samsung Mobile Thailand (@SamsungMobileTH)
  5. MK Restaurants (@MK_Restaurants)
  6. KBank (@KBank_Live)
  7. 7-Eleven Thailand (@7ElevenThailand)
  8. L’Oreal Paris TH (@LOrealParisTH)
  9. Wall’s Thailand (@Walls_Thailand)
  10. Lays Thailand (@laysthailand)


นายธีรวิทย์ ฉายภมร ผู้จัดการฝ่าย Digital & Emerging Platforms ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป๊ปซี่โค กล่าวว่า “บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมากกับแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ การเข้าถึงผู้บริโภคนั้นสำคัญ แต่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องนั้นมีผลยิ่งกว่า โดยสิ่งที่ทำให้ทวิตเตอร์มีความเป็นเอกลักษณ์คือ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เป็นกลุ่มที่เปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ นั่นคือ กลุ่มลูกค้าของเรา ซึ่งแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ทำให้บริษัทสามารถเข้าร่วมบทสนทนาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและช่วยให้เราเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขี้น”


จากการวิเคราะห์ความสำเร็จของแบรนด์เหล่านี้พบว่ามี 4 วิธีหลักๆ ที่ท็อปแบรนด์เลือกใช้ทวิตเตอร์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคและผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย

  1. พลังของคลิปวีดีโอ สถิติยอดเข้าชมวีดีโอบนทวิตเตอร์ในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้น 50% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ตระหนักถึงพลังอันมหาศาลของคลิปวีดีโอบนทวิตเตอร์ จากการวิจัยของทวิตเตอร์แสดงให้เห็นว่า การทวีตพร้อมวีดีโอช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับการทวีตแบบที่ไม่มีวีดีโอ อีกทั้งวีดีโอโฆษณาแบบในสตรีม (โฆษณาที่ต้องดูให้จบก่อนที่จะแสดงวีดีโอคอนเทนท์หลักของผู้เผยแพร่บนทวิตเตอร์) ช่วยเพิ่มการจดจำในโฆษณาขึ้น 70% และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าสูงขึ้น 6% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับชมวีดีโอโฆษณา

  2. ขยายภาพลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการร่วมงานกับคนดังหลายแบรนด์ที่ติดอันดับ Top 10 บนทวิตเตอร์ในไทย ใช้กลยุทธ์การร่วมงานกับคนดัง ด้วยการใช้กลยุทธ์ออฟไลน์ ออนไลน์ และทำให้เกิดการสนทนาบนทวิตเตอร์

  3. เป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนา ผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นผู้มีอิทธิพล เปิดกว้างต่อแนวคิด ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ และชอบที่จะได้เป็นกลุ่มแรกที่ได้ลองและได้ซื้อ การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ทวิตเตอร์และสังคมทวิตเตอร์นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างความน่าเชื่อถือและได้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าสูงสุด

  4. เจาะกลุ่มเป้าหมาย การรู้จักกลุ่มเป้าหมาย คือพื้นฐานเบื้องต้นของการตลาด แต่บ่อยครั้งที่แบรนด์เลือกใช้วิธีกระจายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยหวังว่าจะช่วยสร้างการจดจำของแบรนด์และสร้างยอดขาย ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ มีความหลากหลายมาก แต่เป็นสังคมที่มีความสนใจที่ชัดเจน ซึ่งแบรนด์ต่างๆ สามารถกำหนดเป้าหมายเรื่องผลิตภัณฑ์ บริการ และข้อความต่างๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้