เคาะสรุป ปรับแบบรถไฟฟ้าภูเก็ต งบพุ่ง 2 พันล้านบาท

>>

รฟม.-ทล. เคาะสรุป ปรับแบบรถไฟฟ้าภูเก็ต งบพุ่ง 2 พันล้านบาท ต่อขยายเส้นทางหน้าสนามบิน ด้าน BTS กำเงินขอลงทุนฮุบเค้ก ด้านเอกชนหวั่นก่อสร้างกระทบการท่องเที่ยว


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม) วงเงิน3.4 หมื่นล้านบาทนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ได้เรียก รฟม. และกรมทางหลวง(ทล.) มาเคลียร์ประเด็นข้อพิพาทการใช้พื้นที่ซึ่งส่งผลให้โครงการต้องปรับแบบใหม่และเลื่อนการเปิดประมูลออกไป


ล่าสุดหารือกันได้ข้อสรุปเกือบหมดแล้วในเรื่องการใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการก่อสร้างโครงการ ดังนั้นแบบก่อสร้างใหม่จะปรับแบบ

  1. ทางยกระดับบางช่วงจากเดิมเป็นแบบเลียบพื้นตลอดเส้นทาง 
  2. ปรับแบบก่อสร้างหน้าสนามบินภูเก็ต 

ส่งผลให้วงเงินเพิ่มขึ้น 1,500-2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างอุโมงค์เพิ่ม 2-3 แห่ง เฉลี่ย วงเงิน 500-800 ล้านบาทต่อแห่ง จากเดิมมีอุโมงค์ 3 แห่ง


ส่วนด้านการปรับแบบก่อสร้างหน้าสนามบินนั้นจะปรับแบบจากเดิมที่ใช้ก่อสร้างบนถนนสายหลักเข้าสนามบิน จะขยับเส้นทางออกไปทางรถไฟฟ้าแทรมเลียบรันเวย์สนามบินไปตัดกับถนน 402 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดบริเวณสามแยกสนามบินภูเก็ต ตามที่ชาวบ้านเรียกร้องมา ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการเพิ่มเส้นทางออกไปอีก 2-3 กม.


อย่างไรก็ตาม รฟม.จะสรุปแนวทางก่อสร้างทั้งหมดภายในเดือนนี้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา(TOR) ต่อไปเพื่อเปิดประมูล คาดว่าจะก่อสร้างตามแผนในปี 2563 เปิดบริการปี 2567


ด้านนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า การปรับแบบใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว รฟม. ส่งคนลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบานั้นขณะนี้มีเอกชนสนใจลงทุนที่ชัดเจนคือกลุ่ม บีทีเอส กรุ๊ป หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ล่าสุดได้เข้าพบจังหวัดและเตรียมเงินลงทุนรวมถึงแผนพัฒนาโครงการไว้หมดแล้ว ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการขับเคลื่อนเมืองภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับท็อปของเอเซีย


ทั้งนี้การลงทุน 34,827 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืน 1,521 ล้านบาท สร้างเดโป้ 46 ไร่ตรงโลตัสถลาง สถานีจ่ายระบบไฟฟ้า และจุดเป็นทางโค้งงานโยธา 17,797 ล้านบาท ระบบรถไฟฟ้า 9,508 ล้านบาท จัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,492 ล้านบาทค่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง 13.65 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 303 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 1,452 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,737 ล้านบาท


รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าการประเมินค่าก่อสร้างแทรมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) อยู่ที่ราว 200 ล้านต่อกม. หรือราว 600 ล้านบาทตามแผนขยานเส้นทางของรฟม. ทั้งนี้ คาดจะมีผู้โดยสาร 33,190 คนต่อวัน คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 18 บาท จากนั้นกิโลเมตรละ 2.5 บาท สูงสุด 100-137 บาทต่อเที่ยว


ทางด้านนายสมบัติ อติเศรษฐ์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กล่าวว่าโครงการใช้เงินลงทุนสูง และแนวเส้นทางไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว ไม่ตอบโจทย์คนท้องถิ่นและแก้ปัญหารถติดได้จริง เพราะคนภูเก็ตอยู่ในเมือง ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก และนักท่องเที่ยวจะพักที่ป่าตองเป็นส่วนใหญ่       


“ช่วงก่อสร้าง 3 ปี ถ้ามีปัญหาจราจรจะซ้ำเติมการท่องเที่ยวของภูเก็ต มองว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาที่ดินสองข้างทางในเมือง เพราะจะมีการพัฒนาโฮสเทลและโรงแรมเล็กๆ มากขึ้น รัฐควรปรับเส้นทางจากสนามบินไปทางบายพาสและตรงไปห้าแยกฉลอง โดยไม่ต้องเข้าเมือง ซึ่งสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่โคกกลอย จ.พังงา ก็กำลังจะเกิดขึ้น”