ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยรับเงินดิจิทัลในไทยเกิดยาก ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจประชาชน

>>

ผู้ว่า ธปท. เชื่อแนวทางไอเอ็มเอฟที่จะให้ธนาคารกลางทั่วโลกออกดิจิทัลเคอเรนซี่ เพื่อลดการใช้เงินสด ยังเกิดยากและใช้เวลา ระบุเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจกับสังคม และประชาชน เชื่อหากพัฒนาระบบชำระเงินได้ดี-มีประสิทธิภาพ สามารถทดแทนกันได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องการให้ธนาคารกลางทั่วโลกพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการออกสกุลเงินดิจิทัลในอนาคต เพื่อลดการใช้เงินสด แต่สำหรับประเทศเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และคงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วในช่วง 3-5 ปีนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจในสังคม สร้างความเสถียรภาพของการพัฒนาเทคโลยี การยอมรับจากประชาชน เป็นต้น

ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่ได้เปิดใช้ Central Bank Digital Currency กับประชาชนเป็นการทั่วไป แต่อยู่ระหว่างการทดสอบกับระบบการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการอินทนนท์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2562

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังอยู่ระหว่างการทดสอบการนำระบบเทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology หรือ DLT) มาใช้กับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลแบบไร้ใบตราสาร ปัจจุบันจะต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 15 วันทำการ แต่หากนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ จะลดเวลาการทำธุรกรรมเหลือเพียง 2 วันทำการเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลสำหรับทั่วไปกับประชาชนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากรูปแบบการดำเนินการมีความซับซ้อน รวมถึงความพร้อมของคนในสังคม กฎเกณฑ์ เทคโนโลยีที่ต้องมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า หากสถาบันการเงินสามารถพัฒนาระบบการชำระเงินได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะได้ผลเช่นเดียวกับการออกดิจิทัลเคอเรนซี่ เพื่อลดการใช้เงินสดเหมือนกัน

“สิ่งแรกที่เราต้องทำตอนนี้คือ ดิจิทัลเพย์เม้นท์ (Digital Payment) ทำอย่างไรให้คนใช้มากขึ้น ให้ระบบมีประสิทธิภาพที่ดี เพราะหากดำเนินการได้อาจไม่ต้องลดการออกเงินสด เป็นการออกดิจิทัลเคอเรนซี่ก็ได้ เพราะต้องอย่าลืมว่า เรื่องความพร้อมของคนในสังคม กฎเกณฑ์ กติกา รูปแบบการดีไซน์มีความซับซ้อนเยอะมาก เช่น เวลาที่เป็นดิจิทัลเคอเรนซี่ จะออกเป็นโทเคน หรือ เอ็คเค้าเบท คือ ทุกคนจะมีแอคเค้ากับแบงก์ชาติ ซึ่งถ้าเกิดขึ้น จะทำอย่างไรกับบัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับแบงก์ หากทุกคนมีอีวอลเลทกับแบงก์ชาติ จะมีผลกับบิทซิเนตโมเดลของแบงก์ และวันนี้ระบบการชำระเงินที่มันดี มีคิวอาร์โค้ด มันก็ได้ผลเหมือนกัน โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นโทเคน หรือ ดิจิทัลเคอเรนซี่” นายวิรไท กล่าว

ที่มา: www.bot.or.th/