IRPC คาดกำไรการดำเนินงานปี 61 ดีกว่าปี 60 ทำได้กว่า 8 พันลบ. รับผลบวกแผนขยายงานหนุน แม้มาร์จิ้นลดลง ,เดินหน้าแผน M&A

>>

IRPC คาดกำไรการดำเนินงานปี 61 ดีกว่าปี 60 ทำได้กว่า 8 พันลบ. รับผลบวกแผนขยายงานหนุน แม้มาร์จิ้นลดลง ,เดินหน้าแผน M&A

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานปี 61 จะเติบโตกว่าปี 60 ที่ทำได้กว่า 8 พันล้านบาท แม้ว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันจะอ่อนตัวลงราว 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 14.48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 60 จากราคาผลิตภัณฑ์ลดลง และค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น แต่การที่บริษัทได้ขยายการลงทุนก่อนหน้านี้ ทำให้รับรู้ผลการดำเนินได้เต็มปีจากโครงการที่แล้วเสร็จในปี 60 ทั้งโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่น และการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตัน/ปี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ขนาด 240 เมกะวัตต์ (MW) แล้วเสร็จ ตลอดจนโครงการ Everest forever ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อจากโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในทุกด้าน ช่วยหนุนให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

(นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกำไรสุทธิปี 61 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากขาดทุนสต็อกน้ำมันเล็กน้อย หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงในช่วงปลายปี เมื่อเทียบกับปี 60 ที่มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 1.14 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีกำไรจากสต็อกน้ำมันกว่า 2 พันล้านบาท และยังมีรายการพิเศษอีกบางส่วนด้วย

"ปี 61 กำไร operation ยังสูงกว่าปี 60 ที่ทำได้กว่า 8 พันล้านบาท ปี 60 มีกำไร stock gain2 พันกว่าล้านบาท และรายได้พิเศษอื่น รวมกันก็ 3 พันกว่าล้านบาท ส่วนปี 61 เรามี stock loss นิดเดียว กำไร operation ดีกว่าเพราะการบริหารงานมีประสิทธิภาพ แม้มาร์จิ้นจะต่ำกว่า แต่เรามี UHV มี PP มี Everest forever ทั้งที่มาร์จิ้นลด ราคาตลาดลง ค่าเชื้อเพลิงแพงขึ้น ตรงนี้ก็เข้ามาชดเชยพอดี"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ ยังประเมินด้วยว่า ทิศทางราคาน้ำมันระยะยาวในช่วง 3-4 ปีนี้ จะเคลื่อนไหวในช่วง 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสม แม้บางช่วงราคาน้ำมันอาจจะแกว่งตัวขึ้นลงไปบ้าง โดยหากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปสูงก็อาจจะมีการผลิตของกลุ่ม Shale oil ,Shale gas ออกมาก็จะกดให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง

ส่วนความคืบหน้าการทำดีลซื้อกิจการ (M&A) นั้นปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนในโรงงานผลิตภัณฑ์ขั้นปลายที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ จำนวน 1-2 ดีลในประเทศ และพิจารณา 2 ดีลสตาร์ทอัพด้านงานวิจัยในสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่สามารถระบุระยะเวลาสรุปดีลที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่แล้วบริษัทได้เข้าลงทุน 15% ในบริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. (GZSJ) ซึ่งบริหารจัดการ Platforms ภายใต้ชื่อ "IPLAS" โดย GZSJ ดำเนินธุรกิจด้านการซื้อขายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก ผ่านระบบ E-Commerce รายใหญ่ในจีน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ร่วมกับ GZSJ ตั้งบริษัทร่วมทุนในไทย โดยบริษัทถือหุ้น 55% และ GZSJ ถือหุ้น 45% เพื่อพัฒนาธุรกิจซื้อขายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก ผ่านระบบ E-Commerce ในไทย ซึ่งเตรียมที่จะเปิด Platforms เพื่อให้เกิดการซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 3/62 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่การขายเม็ดพลาสติกในไทยให้กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กเป็นการขายผ่านเอเย่นต์รายย่อย โดยตั้งเป้าหมายการซื้อขายผ่าน Platforms ดังกล่าวจะมีปริมาณราว 30% ของการขายสินค้าผ่านรีเทล

นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการร่วมลงทุนกับบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ในการพัฒนานิคมอุตสากหรรมในอ.บ้านค่าย จ.ระยองนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง รวมถึงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในครึ่งแรกปีนี้ ส่วนการได้รับเงินก้อนสุดท้ายที่บริษัทร่วมทุนจะต้องชำระค่าขายที่ดินจำนวน 2,152 ไร่ให้กับบริษัทนั้น ยังต้องรอการโอนสิทธิที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ IRPC จำหน่ายที่ดินในอ.บ้านค่าย จ.ระยอง จำนวน 2,152 ไร่ ให้กับบริษัทร่วมทุนกับกลุ่ม WHA คิดเป็นมูลค่า 620 ล้านบาท

ศึกษาข้อมูลธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ www.irpc.co.th/th/ir