ZEN หุ้นน้องใหม่เคาะราคา IPO 13 บาท
จับตาธุรกิจเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น

>>

บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ที่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจอาหารยาวนานกว่า 28 ปี ล่าสุดกำลังนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อก้าวเป็นบริษัทมหาชน พร้อมประกาศราคาขาย หุ้น IPO ออกมาเป็นที่เรียบร้อย

 

พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ได้ทำการสำรวจความต้องการจองซื้อหลักทรัพย์จากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) ปรากฏว่านักลงทุนสถาบันมองว่า ZEN เป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดดี มีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3-5 ปี มีรายได้และกำไรเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี แม้ในช่วง 9 เดือนของปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทฯ ก็ยังเติบโตได้

 

การทำ Book Building ครั้งนี้ มีช่วงราคาเสนอขาย IPO เบื้องต้นอยู่ที่ 12.70-13 บาทต่อหุ้น และได้กำหนดราคา IPO หุ้น ZEN ที่ 13 บาท ซึ่งเป็นราคาที่นักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อเข้ามามากที่สุด คิดเป็นค่า P/E ปี 2562 ที่ 19.9 เท่า ถือเป็นเป็นราคาที่ discount ประมาณ 20% จากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ที่ให้ราคาเหมาะสมหุ้น ZEN ไว้ก่อนหน้านี้

 

พร้อมแต่งตั้ง บล.ไทยพาณิชย์, บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.เคจีไอ และบล.เคทีบี เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อ 3 วัน ในวันที่ 7 – 8 และ 11 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าหุ้น ZEN จะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ  20 กุมภาพันธ์นี้ 

 

“อยากให้มองยาวๆ พยายามศึกษาข้อมูลบริษัทในหลายๆ มุม เชื่อว่าเป็นหุ้นที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เพราะมี cash flow ดี และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี” พงศ์ศักดิ์ กล่าว

 

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขาย IPO ปัจจุบัน ZEN มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาท จะเสนอขายหุ้น IPO  75 ล้านหุ้น




ด้านบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป คาดว่าจะได้รับเงินจาการระดมทุนครั้งนี้ราวๆ 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ จะนำไปขยายและปรับปรุงสาขาร้านอาหาร ชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

 

สำหรับปี 2562 บริษัทฯ วางแผนจะขยายร้านอาหารรวมประมาณ 123 สาขา แบ่งเป็นขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งเป็นของบริษัท 36 สาขา และแฟรนไชส์ 87 สาขา ควบคู่ไปกับการเติบโตของสาขาเดิม ซึ่งที่ผ่านมาแม้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยอดขายจากสาขาเดิมยังคงเพิ่มขึ้น

 

“เรามีจุดเด่นด้านการเป็นผู้ให้บริการอาหาร (Food Services) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีทั้งธุรกิจร้านอาหารที่มีแบรนด์หลากหลาย สามารถตอบสนองผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อได้ทุกระดับ และมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะช่วยให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถขยายสาขาได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงยังมีการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างและจุดแข็งให้กับการดำเนินธุรกิจ” บุญยง ระบุ

 

อีกทั้งต้นทุนการดำเนินงานหลังจากนี้จะไม่เพิ่มขึ้น เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนระบบบริหารจัดการภายในองค์กร (Back Office)  ด้วยการลงทุนระบบต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงเพิ่มบุคลากรเพื่อเตรียมตัวสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต เท่ากับว่าต้นทุนด้านการบุคลากรและการลงทุนระบบบริหารจัดการจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่า ZEN จะต้องขยายสาขาก้าวกระโดด

 

นอกจากนี้ CEO ZEN ยังบอกว่า การพัฒนาระบบบริหารจัดการภายในองค์กร จะสามารถรองรับการเติบโตในระยะยาวได้ 4-5 ปี ดังนั้นการเติบโตของ ZEN ในอนาคต จึงเป็นภาพการเติบโตของรายได้และกำไรที่สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนด้านคนและระบบบริการจัดการถูกล็อคไว้เท่าเดิม

 

ZEN เป็นอีกหุ้นที่ถูกจับตามองว่าจะสามารถสร้างสีสันให้กับ IPO ในปี 2562 ด้วยศักยภาพของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง แต่การตอบรับของนักลงทุนจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามในการเข้าเทรดวันแรก 20 ก.พ.นี้