มาทำความรู้จัก “AIT” ผู้ออกแบบระบบเครือข่ายและสื่อสารครบวงจร

>>

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีผลกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างมาก ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพสูง  ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการออกแบบที่มีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในระบบที่ภาคธุรกิจมีความต้องการปรับเปลี่ยนมากที่สุด  คือ System Integrator หรือ SI ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของภาคการสื่อสารและโทรคมนาคม

โดย SI คือ การออกแบบระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับธุรกิจประเภทนี้นัก เพราะแทบไม่มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันเลย แต่ SI กลับมีความสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ อาทิ TOT และ CAT ตลอดจนบริษัทเอกชนต่างๆ เพราะจำเป็นต้องใช้ฐานระบบและข้อมูลเพื่อบริหารจัดการการทำงานภายใน ยิ่งปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม....

จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้องค์กรธุรกิจต่างๆ เริ่มตื่นตัวจาก Disruption มากขึ้น เพราะหากหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในไม่ช้าธุรกิจคงถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา  การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานหรือ Transform ธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้าน SI น่าจะได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่สำคัญให้กับ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT ถือเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการและติดตั้งระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร มายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีธุรกิจหลัก คือ ให้บริการด้าน SI อย่างครบวงจร ได้รับความไว้วางใจและเลือกใช้บริการจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น Service Provider , หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ , กลุ่มธนาคาร สถาบันการเงินและบริษัทประกัน , โรงพยาบาล , โรงแรม , อุตสาหกรรม และภาคเอกชนอื่นๆ

ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร

จากที่อ่านมาข้างต้นอาจจะเข้าใจว่า AIT ทำธุรกิจแค่อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย AIT มีธุรกิจให้บริการถึง 7 ธุรกิจด้วยกัน ได้แก่

  1. System Integrator (SI) คือ การรวมองค์ประกอบด้านต่างๆมาเป็นระบบ ICT เดียว หรือเป็น solution เดียวเพื่อนำเสนอให้ลูกค้าแบบเบ็ดเสร็จ
  2. Cloud Implementer คือ ธุรกิจสร้างระบบคลาวด์ (Cloud)
  3. Data Virtualization (DV) คือ การสร้างข้อมลูขององค์กรที่มีอยู่จำนวนมากมหาศาล หรือ Big Data
  4. Security คือ สร้างความปลอดภัยของข้อมลูในระบบคอมพิวเตอร์และสื่อสาร
  5. Internet of Things หรือ IOT คือ นำอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องกล เครื่องเล่น หรือเครื่องใช้ต่างๆ มาเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต (internet) เพื่อใช้งานให้มีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่าย
  6. Software คือ ธุรกิจโปรแกรมใช้งาน (Application Software) ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟต์แวร์เครือข่ายที่กำหนด (Software Define Network หรือ SDN) ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการระบบเครือข่าย (Network) ขององค์กรได้ง่ายขนึ้

และสุดท้าย 7. การลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนในระยะยาวและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจ Start Up ที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์

โดยปีที่ผ่าน AIT มีรายได้ 4,237.6 ล้านบาท ลดลง 21.5% และมีกำไรสุทธิ 275 ล้านบาท ลดลง 45.1% จากปี 2560 สาเหตุมาจากภาครัฐใช้งบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมมากกว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้ภาพรวมการใช้งบในส่วนนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งกระบวนการจัดซื้อยังล้าทำให้ต้องเลื่อนการประมูลโครงการขนาดใหญ่ออกไป รวมถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ทำให้รายไดและกำไรของ AIT ลดลง

แบ็กล็อคสูงเป็นประวัติการณ์

สำหรับปี 2562 คุณศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มองว่าการประมูลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของภาครัฐและภาคเอกชนจะฟื้นตัวดีขึ้น ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานให้เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด AIT ได้รับงานโครงการจ้างงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่ารวมกว่า 3,351 ล้านบาท ทำให้มีงานในมือ (แบ็กล็อก) ถึง 6,800 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือเติบโตกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 2 เท่า 

อีกทั้งยังเตรียมเข้าประมูลงานใหม่เพิ่มเติม มูลค่ารวมประมาณ 13,200 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวางระบบของภาครัฐ และยังอยู่ระหว่างรอประกาศผลประมูลงาน มูลค่า 143 ล้านบาท รวมถึงอยู่ระหว่างรอคำสั่งซื้ออีกราว 172 ล้านบาท  ดังนั้น ภาพรวมการเติบโตของ AIT ในปีนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 5,000 ล้านบาท หรือมากกว่าปีก่อน 18% ได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ AIT ยังเตรียมเงินไว้ประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนเพิ่มใน “คัม ปานา” บริษัทผู้ประกอบธุรกิจไฟออฟติคเคเบิ้ลใต้น้ำ ในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งปัจจุบัน AIT ถือหุ้นอยู่ประมาณ 17% แต่เร็วๆนี้ คัม ปานา จะมีการเพิ่มทุน ซึ่งจะมีกลุ่มพันธมิตรขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้น ทำให้บริษัทเตรียมวงเงินดังกล่าวไว้ใส่ตอนเพิ่มทุนเพื่อรักษาระดับการถือหุ้นไม่ให้ต่ำกว่า 10%

เรียกได้ว่าให้บริการและติดตั้งระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรจริงๆ แต่นอกเหนือจากประมูลงานต่างๆ เพื่อสร้างรายได้แล้ว AIT ยังให้ความสำคัญกับบุคลากร ด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะเฉพาะทางแก่ทีมวิศวกรตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับการมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดให้กับธุรกิจหลักเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน