ตลาดฟังก์ชั่นนอล ดริ้งค์ สนามปราบเซียน
ตลาดเครื่องดื่มทางเลือกหรือฟังก์ชั่นนอล ดริ้งค์ ยังคงเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง แม้ว่าช่วง 2-3 ปีให้หลัง ตลาดฯจะติดลบกันหลายปีก็ตาม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดดูเหมือนจะขยายตัวไม่ได้นั้น ไม่ได้มาจากยอดขายสินค้า แต่ด้วยเซกเมนท์ของเครื่องดื่มทางเลือกเอง ผู้ประกอบการจึงครีเอทสินค้าได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้ตลาดนี้แข่งขันกันสูง โพซิชันนิ่งของธุรกิจจึงเป็นด่านปราบเซียนสำคัญ
จุดเด่นของเซ็ปเป้คือ?
เมื่อส่องดูผู้เล่นรายใหญ่ ทั้งโออิชิหรืออิชิตันเองก็ตาม ต่างงัดสู้กันในสังเวียนตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเป็นหลัก ทำให้เซ็ปเป้หรือ SAPPE บริษัทขนาดกลางในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ได้เปรียบกว่าเจ้าอื่นในแง่ของการชูจุดเด่นด้านนวัตกรรมหรืออินโนเวชั่น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม หรือกลุ่มเซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ แม้ว่ารายได้หลักของบริษัทจะมาจากกลุ่มเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้อยู่
สำหรับสินค้ากลุ่มบิวติ ดริ้งค์ เซ็ปเป้ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดเครื่องดื่มน้ำสีฟ้า “รีแล็กซิ่ง คาล์ม” ที่สามารถสร้างความฮือฮาได้ในโซเชียล โดยเครื่องดื่มนี้ทางบริษัทให้คอนเซ็ปท์ว่าดื่มแล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย รีแล็กซ์จากภายใน นอกจากนี้มีเครื่องดื่มซิลกี้ซาลอนและบิวติลิฟท์ ที่เน้นการบำรุงผมและเล็บโดยเฉพาะ และล่าสุดมีเซ็ปเป้ บิวติ ดริงค์ “Beauti Acna” สูตรใหม่สำหรับผู้มีปัญหาสิวและผิวมัน ย้ำภาพการเป็นแชมป์ตลาดฟังก์ชั่นนอล ดริ้งค์สำหรับผู้หญิง
ด้านโครงสร้างธุรกิจ เซ็ปเป้มีสินค้า 4 กลุ่ม 12 แบรนด์ ประกอบด้วย 1.เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม 2.เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มแต่งกลิ่นผลไม้ 3.ผงพร้อมชงเพื่อสุขภาพและความงาม และ 4.เครื่องดื่มปรุงสำเร็จพร้อมดื่มอื่นๆ รวมถึงสินค้าไลน์ใหม่ในกลุ่มขนมทานเล่นเพื่อสุขภาพ
ซึ่งนอกจากจุดเด่นด้านอินโนเวชั่น ทำให้กลุ่มเครื่องดื่มบิวติ ดริ้งค์ ขายดีในประเทศแล้ว ถ้าดูผลประกอบการจะเห็นเลยว่าบริษัทมียอดขายจากต่างประเทศกว่า 72% โดยยังคงคอนเซ็ปท์การสร้างจุดเด่นของสินค้า โดยนำน้ำมะพร้าวออล โคโค บุกตลาดต่างประเทศ และล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัท ออล โคโค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมะพร้าวแบรนด์คนไทย โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 51% จากเดิม 40% ใช้เงินลงทุนประมาณ 42.35 ล้านบาท ซึ่งในด้านการส่งออกต้องระวังเรื่องความเสี่ยงของค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้
และอีกดีลล่าสุด เซ็ปเป้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับดานอน (Danone) บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของฝรั่งเศส หรือเจ้าของแบรนด์โยเกิร์ตพร้อมดื่มแอคทีเวีย โดยการร่วมทุนนี้ เซ็ปเป้จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 25% หรือใช้เงินลงทุนประมาณ 75 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนรวม 300 ล้านบาท เพื่อรุกธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในไทย
บล.ฟินันเซียปรับประมาณการกำไรสุทธิ’62 ใหม่
ในมุมมองของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์อย่างบล.ฟินันเซีย ไซรัสคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บวกกับออล โคโค น่าจะพลิกกลับมามีกำไรในไตรมาสนี้ หลังขาดทุนมาตลอดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เป็นผลจากต้นทุนน้ำมะพร้าวที่ปรับลดลง เพราะฉะนั้นหากกำไรสุทธิไตรมาส 4/2561 เป็นไปตามคาด ฟินันเซียฯประเมินกำไรสุทธิทั้งปี 2561 อยู่ที่ 381 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะลดลง 5.1% ก็ตาม แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากผลกระทบภาษีน้ำตาล รวมถึงช่วงครึ่งปีแรกเป็นหน้าไฮซีซั่น จึงปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้ขึ้นอีกเป็น 410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตามแม้นักวิเคราะห์จะมองในมุมบวกต่อเซ็ปเป้ แต่ก็ยังต้องอาศัยการพิสูจน์ในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ถือว่าเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ว่าเซ็ปเป้จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเหมือนในอดีตหรือไม่
ที่มา รายงานประจำปี 2560 และรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2561 ของ SAPPE, บทวิเคราะห์ SAPPE บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)