ผู้โดยสารโปรดทราบ....ถึงเวลา “THAI” เทคออฟ?

>>

วิเคราะห์สายการบินแห่งชาติ “สายการบินไทย” ที่ต้องแบกรับขาดทุนสะสมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าพอๆกับงบประมาณสร้างรถไฟทางคู่ กับแผนการพลิกฟื้นการบินไทย ด้วยการจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ และลอตแรกที่จะจัดซื้อเครื่องบิน 25 ลำ จะดีพอให้สายการบินแห่งชาติกลับมาผงาดอีกครั้งได้หรือไม่


ยังขาดทุนอย่างต่อเนื่องสำหรับการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่ในงวดผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2561 ที่ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายยังติดลบ 4,082.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 9 เดือนแรกขาดทุน 3,878.82 ล้านบาท และเมื่อดูการขาดทุนสะสมยิ่งน่ากังวล เพราะสายการบินแห่งชาติของเรานั้น ขาดทุนสะสมสูงถึง 25,459.09 ล้านบาท แทบจะไม่เห็นทางรอด ถ้าจะเทียบการขาดทุนสะสมของการบินไทย ก็จะมีมูลค่าพอๆกับการใช้เงินก่อสร้าง รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 2.4 หมื่นล้านบาท ได้เลยทีเดียว !!!


ก่อนจะไปไกลกว่านี้ขอกลับมาทบทวนกันหน่อย สายการบินไทย ประกอบธุรกิจ สายการบินแห่งชาติที่ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ โดยแยกการบริหารออกเป็นธุรกิจหลักคือธุรกิจสายการบิน และกลุ่มกิจการสนับสนุนการบินและการขนส่ง นอกจากนี้ยังถือหุ้น 21.80% ในสายการบินนกแอร์ สายการบินโลว์คอสต์ที่ตอนนี้เจอปัญหาขาดทุนเช่นกัน และถือหุ้นในสายการบินไทยสไมล์อีกด้วย

จัดซื้อเครื่องบินคือทางออก

การพลิกฟื้นการบินไทยเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ของการบินไทย ไม่นับรวมกองทุนวายุภักษ์ ที่ถือหุ้นอีก 15.12 % ล่าสุด “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ
ให้นโยบายเร่งด่วนกับกระทรวงคมนาคมช่วยกระตุ้นเบิกจ่าย การจัดหาฝูงบินล็อตใหม่ โดยจะจัดหาล็อตแรกก่อน 25 ลำ ขอให้เร่งดำเนินการชัดเจนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้


ความชัดเจนมีมากขึ้น เมื่ออาคม เติมพิทยาไพสิฐ เจ้ากระทรวงคมนาคม รับปากรองนายกฯ จะเร่งดำเนินงาน ผลักดันโครงการสำคัญที่อยู่ในแผนทั้งหมดเข้าสู่ขั้นตอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้   


เบื้องต้นมีจำนวน 21 โครงการที่ต้องผลักดัน หนึ่งในนั้นคือทางอากาศ ทั้งการจัดหาฝูงบินล็อตใหม่ จำนวน 38 ลำ ของ บมจ.การบินไทย โดยในแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำนี้ มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังเร่งรัดการจัดสร้างโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) ของการบินไทย และเร่งสร้างอาคารแซทเทิลไลท์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่อีกด้วย

โบรกเกอร์รอประเมินผลในระยะยาว

ในมุมตลาดทุนดูจะขานรับแผนการซื้อเครื่องบินใหม่ โดยบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า THAI มีแผนซื้อเครื่องบินในระยะแรก 23 ลำ มูลค่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากการกู้ยืม และทยอยซื้อเป็นแผนลงทุนระยะยาว โดยแผนพลิกฟื้นธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงอนุมัติจากครม. ซึ่งรวมถึงแนวทางการจัดการกับการตั้งด้อยค่าในอนาคต


ส่วนบล.โนมูระ พัฒนสิน ยังมีมุมมองไม่ดีนักกับผลประกอบการในระยะสั้น และคาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขาดทุน 730 ล้านบาท โดยผลประกอบการยังถูกกดดันจากต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 14%จากปีก่อน อัตราบรรทุกผู้โดยสารลดลง 2% จากปีก่อน


อย่างไรก็ดีคาดผลประกอบการ 2562 จะกลับมาเป็นกำไร 2,669 ล้านบาท จากแนวโน้มราคาน้ำมันลดลง และปริมาณนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัว คาดว่าไตรมาสที่ 1 จะฟื้นเป็นกำไร 3,661 ล้านบาท เติบโต 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ท้ายที่สุดการบินไทยจะกลับมามีกำไรอีกครั้ง และล้างขาดทุนสะสมได้หรือไม่ น่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่อย่างน้อยการมีแผนพลิกฟื้นการบินไทยที่ชัดเจนก็จะช่วยมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ และท้ายที่สุดหวังว่าจะช่วยนำพาให้การบินไทยเทคออฟเป็นหนึ่งในสายการบินที่ดีที่สุดระดับต้นๆของโลกอีกครั้ง

 

ที่มา https://www.set.or.th