KCE ช่วงวิกฤติเงินบาทแข็งค่า กับเมกะเทรนด์รถยนต์ไร้คนขับ ได้ประโยชน์มากแค่ไหน

>>

 

พอพูดถึงเศรษฐกิจ คงจะคุ้นๆ กับคำว่า “บาทแข็ง” หรือ “บาทอ่อน” ซึ่งเข้าใจว่ามีหลายๆ คนยังจำสลับกันอยู่ หรืออาจจะแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ จึงอยากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก่อนที่เราจะมาเข้าเรื่องหุ้นกัน

ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจว่าเงินของแต่ละประเทศมีมูลค่าไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องไปเที่ยว หรือทำการค้าจึงต้อง “แลกเงิน” ให้เป็นอัตราเดียวกันก่อน โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันมากที่สุดในโลกคือ “ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ” เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแย่ หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐออกนโยบายหรือเดินเกมแปลกๆ ค่าเงินของแต่ละประเทศจึงได้รับผลกระทบด้วย สำหรับปีนี้เมื่อสหรัฐประกาศว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเรื่อยๆ หรือมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีแรงกดดันเรื่องดอกเบี้ย

ด้วยความที่ค่าเงินก็เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน นั่นจึงทำให้ค่าเงินบ้านเราอย่างเงิน “บาท” ได้รับผลกระทบด้วย ยิ่งเงินดอลลาร์อ่อนค่าเงินบาทก็ยิ่งแข็ง โดยเฉพาะล่าสุดนี้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ระดับ 31.085 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในวันนี้อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 31.156 บาทต่อดอลลาร์ 

 

เมื่อเป็นแบบนี้ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ?

อย่างแรกสุดเลยใครที่ไปเที่ยวช่วงนี้ได้เปรียบมาก เพราะเราใช้เงินบาทน้อยไปแลกน้อยลง จากเดิมอาจจะต้องใช้ 34 บาทถึงจะแลกได้ 1 ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ใช้เงินเพียง 31 บาท หรือลดลง 3 บาท จากค่าเงินระดับกลางๆ หรือ “เสถียรภาพของค่าเงินบาท” ที่ควรจะอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้ที่เสียเปรียบคือผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เพราะว่าพอแลกเงินแล้วจะได้เงินบาทน้อยลง

เมื่อวกกลับมาตลาดหุ้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วยคือ “หุ้นส่งออก” โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มักจะส่งออกไปต่างประเทศเป็นหลัก อย่าง KCE หรือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือ Printed Circuit Board (PCB) ซึ่งเป็นผู้ผลิตท็อปเทนของตลาดโลกในด้านนี้ แล้ว PCB มันสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับเรายังไงบ้าง

ถ้าให้จัดกลุ่มง่ายๆ คือ ตัว PCB เป็นชิ้นส่วนที่ใช้มากที่สุดในกลุ่มยานยนต์ และสิ่งที่ทำให้ KCE โดดเด่นขึ้นมาคือแผ่นพิมพ์ฯนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของรถยนต์ไร้คนขับ! ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ ตลาดหลักของ KCE จึงอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) เพราะมีข้อบังคับให้ผู้ผลิตยานยนต์ต้องนำระบบอัตโนมัติในรถยนต์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบเตือนการออกนอกเลน ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ ระบบช่วยหลีกเลี่ยงการชน รวมถึงระบบอื่นๆ เช่น ระบบตรวจสอบอาการง่วงนอนของคนขับ เทคโนโลยีที่ช่วยการมองเห็นในเวลากลางคืน

 

ชิ้นส่วน PCB จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 50% ของราคารถยนต์

ยิ่งระบบมีความซับซ้อนและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนขับได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้ PCB ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้บริษัทนี้สดใสในอนาคต เพราะต่อไปการใช้งานของรถยนต์จะวัดกันที่ว่าใครมีอินโนเวชั่นมากกว่ากัน โดยเฉพาะระบบเซนเซอร์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้ว เช่น ระบบล็อคพวงมาลัย เมื่อคนขับกำลังจะเลี้ยวผิดทาง

นอกจากตัว PCB แล้ว บริษัทยังมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย โดยในช่วงปี 2553-2562 มูลค่าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใส่ในรถยนต์ต่อคัน คิดเป็นต้นทุน 30% ของราคารถยนต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 35% ในปี 2563-2572 และเพิ่มเป็น 50% ในปี 2573 ขณะเดียวกันเมื่อ “ระบบเซนเซอร์” ถูกนำมาใช้มากขึ้น จากเดิมใช้ในกลุ่มรถยนต์ตลาดบนที่หรูหรา ก็จะกลายมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ใส่ในรถทั่วไปในเวลาอันรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ต้นทุนก็ถูกลงเรื่อยๆ

 

แม้ว่าอนาคตบริษัทจะสดใส แต่มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

ด้วยความที่หุ้น KCE เกี่ยวข้องกับผลกระทบค่าเงินบาทโดยตรง ทางนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด จึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่ลูกค้าของบริษัทประมาณ 43% เป็นลูกค้าแถปยุโรป ทำให้บริษัทมีเรื่องน่ากังวลใหม่คือ ผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอ ทำให้ยอดขายในยุโรปชะลอตัวลงไป 18% นอกจากนี้ยอดขายที่ลดลงมาจากผลกระทบมาตรการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รูปแบบใหม่ (Worldwide Harmonized Light Vehicle Test) ของทางยุโรป ที่เพิ่งบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ต้นทุนราคาทองแดงเฉลี่ยที่ปรับตัวขึ้น ตลอดจนแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

เพราะฉะนั้นใครจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นตัวนี้ ก็ต้องดูจังหวะให้ดี และนอกจากการบุกตลาดอินโนเวชั่นรถยนต์แล้ว KCE ก็พยายามมองหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนในธุรกิจประเภทเดียว

 

ที่มา: รายงานประจำปี 2560 ของบริษัท และบทวิเคราะห์หุ้น KCE ของบล.เอเชีย เวลท์