เงินบาทแข็งสุดภูมิภาค คาดแตะ 31 บาท/ดอลลาร์ เดือน มี.ค.

>>

เงินบาทยังแข็งค่าไม่หยุด ทำสถิติแข็งค่าอันดับ 1 ในภูมิภาค กสิกรไทยชี้มีโอกาสหลุด 31 บาท/ดอลลาร์ ใน มี.ค. นี้ ด้าน สภาอุตสาหกรรมเตรียมถกผู้ว่าแบงก์ชาติ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาททำสถิติใหม่แข็งค่าเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าถึง 4.6% รองลงมาคือ ค่าเงินหยวน 2.6% อินโดนีเซีย 2.4% มาเลเซีย 1.6% และสิงคโปร์ 0.8%

"มีโอกาสสูงว่าภายในเดือน มี.ค. นี้ เงินบาทมีแนวโน้มต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ สหรัฐ มาจากปัจจัยต่างประเทศ 45% เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และภาพรวมการเลือกตั้ง" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี คาดว่าค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 1-2% ในช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ประมาณ 31.50 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจัยฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่นักลงทุนต่างประเทศประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ในสกุลเงินดอลลาร์อยู่ในระดับที่สูง ประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ผู้ประกอบการมีการถอนออกและขายคืนบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น เงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในแง่ของสภาพคล่องและรายได้ที่ลดลง โดยคาดการณ์ส่งออกไทยจะอยู่ที่ 4.5% และ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 4%

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปี และจะผันผวนตลอดทั้งปี ผู้ส่งออก ควรรับมือกับความเสี่ยง และงดการเก็งกำไร ค่าเงินในทุกกรณี และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ล่าสุด ธสน.ทำโครงการประกันความเสี่ยง อัตราแลกเปลี่ยนระยะที่ 2 แต่ผู้ส่งออก ยังมาอบรมน้อยแค่ไม่ถึง 2,000 ราย เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจความ เชื่อมั่นผู้ประกอบการคาดการณ์ใน 3 เดือน ข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 104.1 จากระดับ 105.9 ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่ความเชื่อมั่นเดือน ม.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 93.8 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 93.2 จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากค่าเงินบาทหลุดไปต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ ทาง ส.อ.ท. มีแผนจะเข้าไปพบกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่วมหารือแนวทางดูแลค่าเงินบาท