หุ้นโรงกลั่น SPRC เกี่ยวอะไรกับ “ทรัมป์” และการเมืองโลก

>>

หลายๆ คนพูดกันว่าปลายปีที่แล้ว ราคาน้ำมันน่าจะถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะฉะนั้นปีนี้น่าจะคลายความกังวลไปได้ระดับหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่เปิดปีมา ราคาน้ำมันยังสร้างสีสันให้ตลาดได้อยู่เรื่อยๆ เนื่องจาก “ราคาน้ำมันดิบ” ในตลาดโลกจะมีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรมแล้ว ยังกระทบกับตลาดทุนด้วย 

ล่าสุดเมื่อวาน “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐออกมาทวิต เรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนว่าน่าจะหาทางออกได้ แต่ด้วยสไตล์ทรัมป์ที่ชอบยั่วอารมณ์ กัดคนอื่นไปทั่วในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ก็ออกมาพูดเรื่องราคาน้ำมันด้วย โดยทวิตถึงโอเปคว่าอยากให้ ‘relax and take it easy’ เพราะราคาน้ำมันโลกจะสูงเกินไป ซึ่งในความเป็นจริง ระดับราคาน้ำมันเบรนด์ที่ 64.76 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป

แต่ก็กลายเป็นว่าเช้ามาวันนี้ ทางไทยออยล์รายงานราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมากกว่า 3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบได้รับข่าวดีสงครามการค้าก็จริง แต่ก็ได้รับแรงกดดันจากทวิตของทรัมป์ด้วย ซึ่งอย่าลืมว่า “เพาเวอร์” ของทรัมป์ก็มีผลกับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอยู่พอสมควร

พูดมาเสียยืดยาว แต่จริงๆ อยากจะบอกว่า ถ้าเกมของทรัมป์ยังไม่จบ ยังคงเขย่าชาวบ้านไปเรื่อย นั่นเท่ากับว่าราคาน้ำมันก็จะขึ้นๆ ลงๆ เป็นระลอกคลื่นตามไปด้วย  ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันยังต้องพึ่งพาการเมืองโลก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศมหาอำนาจมีดีลกัน พอภาวะน้ำมันผันผวนเช่นนี้แล้ว หุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเลียมก็จะได้รับผลกระทบแน่นอน

แล้วหุ้นโรงกลั่นล่ะ จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าชะตากรรมของ “หุ้นโรงกลั่น” ไม่ได้ขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันซะทีเดียว แต่อยู่ที่ “ค่าการกลั่น” หรืออธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ ส่วนต่างราคาน้ำมันที่ผ่านการกลั่นแล้วกับราคาน้ำมันดิบเดิม นอกจากนี้ยังมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่รวมๆ แล้วค่าการกลั่นจะเป็นตัวบอกว่าหุ้นตัวนี้จะทำกำไรหรือขาดทุน

หนึ่งในหุ้นโรงกลั่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ SPRC หรือบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ามัน ให้กับบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่มีเชฟรอนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60.56% โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซินยูโร 4 น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันเตา ยางมอตอย เป็นต้น โดยจะขายให้เชฟรอนและปตท.ในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ

ผลประกอบการบริษัท 

ทางบริษัทรายงานงบไตรมาส 4/2561 ออกมาแล้วพบว่าขาดทุนหนักมาก เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงแรง SPRC ก็ได้รับผลกระทบหนัก โดยขาดทุนสุทธิ 3,881 ล้านบาท เทียบไตรมาสก่อนหน้า ยังมีกำไรสุทธิ 1,248 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการระหว่างไตรมาสออกมาต่างกันสุดขั้ว เป็นเพราะ Stock loss หรือราคาน้ำมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว หรือในวงการ (น้ำมัน) เรียกว่าน้ำมันสุก มีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งผลให้ทั้งปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงไปถึง 75% เหลือเพียง 2,263 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งนอกจากราคาน้ำมันโลกปลายปีที่แล้วต่ำกว่า ปีก่อนหน้าหรือปี 2560 ที่ SPRC ทำกำไรได้เฉิดฉาย เพราะ Stock gain หรือการที่ราคาน้ำมันสุกแพงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบนั่นเอง  

แต่ถึงกำไรจะวูบลงไปเยอะ ฝั่งนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คาดว่าปีนี้บริษัทจะฟื้นกลับมาได้ โดยตั้งสมมติฐานค่าการกลั่นทั้งปีเพิ่มขึ้น 16% อยู่ที่ 6.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนที่ติดลบ 20% หรืออยู่ที่ 4.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากข้อกำหนดใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (ไอเอ็มโอ) ที่ระบุว่าจะต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่กำมะถันน้อยกว่า 0.5% ที่จะเริ่มบังคับใช้ต้นปี 2563 เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ตลาดจะตื่นตัวกันมาก ทำให้ดีมานด์น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย ปีนี้ฟินันเซียจึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิไว้ที่ 5,375 ล้านบาท หรือคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 138%

ก็ต้องรอดูว่ามรสุมที่เข้ามาปลายปีที่แล้ว จะมาซ้ำปีนี้อีกรอบหรือไม่ ท่ามกลางความเสี่ยงทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าการกลั่นที่อาจจะฟื้นตัวช้าก็เป็นได้

 

ที่มา: รายงานประจำปี 2560 ของ SPRC, บทวิเคราะห์หุ้น SPRC บล.ฟินันเซีย ไซรัส, รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันของไทยออยล์ https://www.thaioilgroup.com/upload/media_file/201902260835_Daily_Oil_TH_2019.02.26.pdf และ http://www.thansettakij.com/content/282145