อ่านบทวิเคราะห์อย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด
>> หนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ เพราะนักวิเคราะห์มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของบริษัทได้มากกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างเรา
หนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ เพราะนักวิเคราะห์มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของบริษัทได้มากกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างเรา ทั้งจากการโทรสอบถามผู้บริหารโดยตรงหรือการเข้าร่วม Analyst Meeting แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรเชื่อหรือซื้อขายตามบทวิเคราะห์ เพราะมันมีทั้งส่วนที่เป็นตัวเลข ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่เราต้องนำมาพิจารณาต่อก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ผมมีคำแนะนำเวลาอ่านบทวิเคราะห์แบบนี้ครับ
1. อย่าเริ่มที่ “ราคา” หรือ คำแนะนำ “ซื้อ หรือ ขาย”
สิ่งแรกที่หลายคนชอบทำเวลาเปิดบทวิเคราะห์คือ ดูก่อนเลยว่า หุ้นตัวนี้ราคาเท่าไหร่ แนะนำให้ซื้อหรือขาย เพราะบทวิเคราะห์ที่เราเปิดดูมักเป็นหุ้นที่เราสนใจหรือหุ้นที่เราติดดอยอยู่ เราเลยอยากรู้ว่าควรถือต่อมั้ยหรือว่าขายทิ้งดี ถ้านักวิเคราะห์บอกให้ซื้อ เราจะได้สบายใจ แต่ผมอยากบอกว่า เราควรดูราคาหรือคำแนะนำเป็นอย่างสุดท้าย หรือจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องดูเลยก็ได้
2. เริ่มที่ภาพรวมอุตสาหกรรม
หลายครั้งที่เราไม่สามารถหาข้อมูลอุตสาหกรรมเองได้ เพราะเป็นข้อมูลเฉพาะ หรือต้องจ้างบริษัทวิจัยทำ ซึ่งราคาสูง แต่นักวิเคราะห์หรือบริษัทมีข้อมูลนั้น เราเริ่มอ่านที่ตรงนี้ก่อนเพื่อให้เห็นภาพรวมว่าตลาดใหญ่แค่ไหนเติบโตหรือหดตัว ธุรกิจนี้มีแนวโน้มจะถูก Disrupt ได้หรือไม่ มีผู้เล่นกี่ราย มีรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดแบบเบ็ดเสร็จหรือไม่ บริษัทที่เราสนใจเป็นเบอร์ที่เท่าไหร่ของตลาด เติบโตเร็วหรือช้ากว่าตลาด ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้เราเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจน
สิ่งที่ต้องระวังคือ บางครั้งนักวิเคราะห์บางคนหยิบข้อมูลมาไม่ครบถ้วนหรือเลือกเอาแต่เฉพาะด้านดีมาโชว์ เช่น ภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นรายปี ตัวเลขนักท่องเที่ยวรายปี แต่ไม่โชว์รายเดือนว่าตัวเลขที่เห็นเติบโตกำลังมีแนวโน้มลดลง ก็อาจทำให้เราเข้าใจภาพผิดได้ เพราะฉะนั้น เราควรต้องอ่านข้อมูลจาก ๆ หลาย ๆ ที่เพื่อนำมา cross check กัน
3. อ่านข้อมูลบริษัทและตัวเลขงบการเงิน
เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร เพราะอะไร หลายครั้งที่ข้อมูลในคำอธิบายงบไม่ได้บอกเอาไว้ แต่ผู้บริหารอาจมาบอกในงาน Analyst Meeting หรือนักวิเคราะห์ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร เราก็จะได้ข้อมูลที่เป็นเหตุผลที่แท้จริงมากขึ้น และบางบทวิเคราะห์ที่ดี ๆ ก็จะแยกข้อมูลแบบละเอียด รายการพิเศษ สัดส่วนรายได้ตามกลุ่มสินค้า ตัวเลขเปรียบเทียบรายไตรมาส ก็จะทำให้เราเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น
4. ดูสมมติฐานในการคำนวณราคา
ด้วยหน้าที่ทำให้นักวิเคราะห์ต้องประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมว่าควรเป็นเท่าไร ตรงนี้อยากให้ดูว่าเขาใช้วิธีไหนในการคำนวณและมีสมมติฐานอย่างไรมากกว่าไปดูว่า ราคาเท่าไร เพราะจะทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงให้ราคาที่สูงหรือต่ำ บางครั้งนักวิเคราะห์ให้ค่า P/E ที่สูงเกินจริง หรือให้ Terminal Growth ที่โตกว่าในอดีต ก็จะทำให้ราคาหุ้นมีค่าสูง และการที่เราเข้าใจในหลักการ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไป เราจะได้คำนวณราคาใหม่ได้เอง หรือประเมินสถานการณ์ได้ถูกว่าควรทำอย่างไร โดยไม่ต้องรอบทวิเคราะห์ฉบับใหม่ออกมา
5. อ่านความเห็นหรือคาดการณ์แนวโน้ม
ตรงนี้แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ความเห็นที่มาจากตัวผู้บริหารเองหรือตัวนักวิเคราะห์เอง ที่จะมีการคาดการณ์อนาคตว่าบริษัทจะเติบโตอย่างไร แน่นอนว่าผู้บริหารเองก็คงไม่บอกว่าตัวบริษัทกำลังจะเจ๊งหรือถดถอยแบบรุนแรง นักวิเคราะห์ก็เช่นกัน คงไม่มีใครจะโจมตีหุ้นตัวไหน ๆ แบบรุนแรง เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์ที่ดีต่ออาชีพการงาน ดังนั้นเป็นหน้าที่นักลงทุนอย่างเราต้องพิจารณาเองจากข้อมูลภาพรวม ตัวเลขต่าง ๆ และสมมติฐาน ที่เราอ่านมาทั้งหมด ความคิดเห็นหรือบทสรุปนี้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
ผมอยากให้อ่านบทวิเคราะห์จากหลาย ๆ โบรคเกอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และความคิดเห็นที่หลากหลายของนักวิเคราะห์แต่ะละที่ จำชื่อนักวิเคราะห์ที่เขียนดีและไม่ดีเอาไว้ ลองอ่านบทวิเคราะห์ย้อนหลังของคนเหล่านี้ดู คนไหนดีก็จดไว้จะได้ติดตาม คนไหนไม่น่าไว้ใจยิ่งต้องจดไว้ เผื่อว่าแนะนำหุ้นตัวไหน เราจะได้ทำตรงกันข้าม
สิ่งสำคัญที่สุดครับ เราคือคนสุดท้ายที่ต้องตัดสินใจเองว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุน อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง กำไรเป็นของเรา ขาดทุนก็เป็นของเรา เราก็ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำด้วยตัวเองเช่นกัน