แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค. 2561) พบว่า มีต่างชาติยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จำนวน 1,040 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 582,558 ล้านบาท
เทียบกับปี 2560 (ม.ค.-ธ.ค.) จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 17% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 102%
โดยการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับ
- สหรัฐ วงเงิน 333,955 ล้านบาท
- ญี่ปุ่น 74,416 ล้านบาท และจีน 59,475 ล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์การยื่นส่งเสริมฯ เป็นจำนวนโครงการมากสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 334 โครงการ รองลงมาเป็นจีน 131 โครงการ และสิงคโปร์ 102 โครงการ
ทั้งนี้ ปี 2561 สหรัฐมีการลงทุนในไทย 38 โครงการ มูลค่ารวม 333,955 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนของสหรัฐได้พลิกกลับมาอยู่เป็นอันดับหนึ่งแทนที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยผลจากการที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมการขยายการลงทุนปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท โดยในปี 2560 สหรัฐมีการลงทุนรวม 33 โครงการ มูลค่า 20,022 ล้านบาท
สำหรับจำนวนโครงการต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนคิดเป็น 64% ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมทั้งสิ้น 1,626 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คิดเป็น 65% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ยื่นขอส่งเสริมบีโอไอ 901,772 ล้านบาท
โดยปี 2561 ต่างชาติขอรับส่งเสริมฯ ส่วนใหญ่เป็นหมวดบริการและสาธารณูปโภครวม 387 โครงการ คิดเป็น 37% ของจำนวนโครงการต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมทั้งสิ้น รองลงมาเป็นหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 236 โครงการ คิดเป็น 23%
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาพื้นที่เพื่อรองรับการขยายการลงทุนของกลุ่มบริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐ หลังจากที่ล่าสุดได้มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ต่อเนื่องกับบีโอไอเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ผ่านบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 3.3 แสนล้านบาท โดยมองไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ผู้บริหารระดับสูงเอ็กซอนโมบิลจากสหรัฐได้หารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของไทย และแสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ไทยส่งเสริม
แต่มีเงื่อนไขต้องหาพื้นที่รองรับ เนื่องจากจุดเดิมที่เป็นที่ตั้งโรงกลั่นเอสโซ่และปิโตรเคมีไม่สามารถขยายได้แล้ว โดยต้องการพื้นที่ 1,000 ไร่ ซึ่ง กนอ.ได้รับไปศึกษาร่วมกับสำนักงานอีอีซีคาดจะสรุปกลางปีนี้เพื่อให้ทันกับแผนการลงทุนของกลุ่มเอ็กซอนฯ