โลกของความรักผู้คนต่างใฝ่หาความรักเดียวที่มั่นคง แต่ในโลกธุรกิจความรักเดียวอาจไม่พอที่จะนำพาบริษัทให้สร้างกำไรได้ตามที่คาดหวัง เมื่อมีปัจจัยต่างๆเข้ามากระทบก็มักจะทำให้ผลประกอบการมีปัญหา วันนี้ think plus investor จะพาไปพบกับ 4 บริษัทจดทะเบียนชื่อดังที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเพราะมีธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว
โลกของความรักคนหนุ่มสาว ต่างคาดหวังคือมั่นคงในรักเดียวใจเดียว แม้จะไปพบเจอคนใหม่ที่น่าสนใจแค่ไหน ก็จะรักกับเธอคนเดียวเท่านั้น การมีรักซ้อน เป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ เพราะการสร้างโลก 2 ใบในความรักเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ในโลกธุรกิจอาจต่างออกไป การทำธุรกิจเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะ
ต้องรับความเสี่ยงที่มากเกินไป หากธุรกิจที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจเผชิญความท้าทาย การกระจายความเสี่ยงที่ไม่เพียงพอก็อาจทำให้บริษัทนั้นล้มพับไปได้ง่ายๆ
สิ่งนี้ถูกพิสูจน์มาแล้วตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา กับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ถูกจับตาว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งและจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้ผู้ลงทุน แต่กลับทำกำไรผิดหวัง ซึ่งเราจะมาเล่าให้ฟังว่า หุ้นตัวไหนเข้าข่ายบ้าง
ICHI
ICHI หรือ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของ เจ้าพ่อชาเขียว ตัน ภาสกรนที ที่สร้างความฮือฮาในช่วงจองซื้อหุ้นไอพีโอในช่วงปี 2557 ด้วยการเปิดให้ผู้สนใจจองซื้อนำฝาชาเขียวมารับสิทธิจองซื้อหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีผู้สนใจจองซื้อหุ้นมาต่อคิวหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ข้างศูนย์สิริกิติ์ ตั้งแต่ตี 4 เพื่อแยกซื้อหุ้นไอพีโอสูงถึง 13 บาทต่อหุ้น ที่เรียกว่าขายหมดในชั่วพริบตา แต่เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยอดขายกลับไม่เปรี้ยงเมื่อการตลาดในรูปแบบหวยชาเขียวไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอีกต่อไป แถมการขยายธุรกิจไปอินโดนีเซียกลับเจอปัญหา วันนี้ ICHI ถึงทางตัน ราคาหุ้นร่วงลงมาอยู่ในระดับ 3.46 บาท ในวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ดูแล้วโอกาสกลับไปจุดเดิม ณ ราคาไอพีโอเป็นเรื่องยาก
KOOL
KOOL หรือ บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตพัดลมไอน้ำ ภายใต้แบรนด์ ‘มาสเตอร์คูล’ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ช่วงปลายปี 58 กับราคาไอพีโอ 1.80 บาทต่อหุ้น ในเวลานั้น ต้องยอมรับกันว่า เป็นช่วงที่ตลาดหุ้น MAI คึกคักดังกระทิงเปลี่ยว และ KOOL เป็นผู้นำตลาดและครองมาร์เก็ตแชร์ส่วนใหญ่ อีกทั้งยังไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน เรียกว่าคุณสมบัติครบตามที่นักลงทุน VI รุ่นใหม่ต้องการ
แต่แล้วสิ่งที่คิดกลับไม่เป็นไปตามหวัง เมื่อคู่แข่งรายใหญ่ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดดลงสนามท้ารบระเบิดศึกชิงยอดขายตลาดพัดลมไอน้ำ ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงมาอยู่ที่ 1.55 บาทต่อหุ้น และทำให้ KOOL ต้องเบนเป้าหมายทำตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเน้นเจาะฐานลูกค้าโรงแรมและโรงพยาบาล และล่าสุด บริษัทเตรียมเพิ่มทุนอีก 24 ล้านบาท ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 96 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท โดยจะจัดสรรให้กับบุคคลทั่วไปในวงจำกัด 48 ล้านหุ้นและจัดสรรกับผู้ถือหุ้นเดิม 48 ล้านหุ้นเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งการเพิ่มทุนก็อาจเป็นทางออกที่ดีให้บริษัทกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
BEAUTY
BEAUTY หรือ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปี 2555 โดย ณ.เวลานั้น ราคาไอพีโอ ที่ 8 บาท ซึ่ง BEAUTY ถูกคาดหวังว่า ตัวเลขกำไรจะเติบโต 20 – 30% อย่างต่อเนื่องหลายปี จากแผนรุกตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดประเทศจีน ที่ทุกบริษัทมองว่าเป็นโอกาส ท่ามกลางความสนใจของนักลงทุน แต่เหตุไฉน ผู้บริหารกลับแอบเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง และผลประกอบการในปีล่าสุดก็ไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง งานนี้ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า BEAUTY จะกลับมาสวยอีกครั้งได้หรือไม่TKN
TKN บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วงปลายปี 58 เป็นหนึ่งในหุ้นที่นักลงทุนหาซื้อไอพีโอมากที่สุด ด้วยราคาจองซื้อที่ 4 บาทต่อหุ้น และมีแผนขยายตลาดในต่างประเทศ ทำให้ความนิยมในหุ้นเถ้าแก่น้อยพุ่งต่อเนื่อง แต่แล้วเถ้าแก่น้อยก็เริ่มเหนื่อย หลังกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเริ่มมีปัญหาไม่เข้ามาเที่ยวในไทย ไอ้ที่ทำยอดขายพุ่งๆ กลับหัวทิ่มไม่เป็นท่า ฉุดงบการเงินไม่สวย กระทบราคาหุ้นร่วงรุนแรง แม้เถ้าแก้น้อยพยายามจะหาผลิตภัณฑ์อื่นๆเข้ามาเสริมแต่ก็ดูเหมือนต้องใช้เวลาการมีธุรกิจเดียวในบริษัทไม่ใช่สิ่งที่ผิด หากเราเชี่ยวชาญการดำเนินงานและมั่นใจว่าจะยึดผู้นำตลาด ไม่ว่าภาวะแวดล้อมทางการตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็บ่งบอกให้เจ้าของธุรกิจต้องมีการกระจายความเสี่ยงของที่มาของรายได้ให้เหมาะสม ไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง หรือสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
เพราะหากอะไรๆ ไม่เป็นไปตามหวัง ก็จบเอวังด้วยประการชะนี้และที่สำคัญนักลงทุนอย่างเราๆ หากไม่อยากติดดอยกระเป๋าฉีก ต้องหมั่นเพียรศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่จะเข้ามากระทบกับธุรกิจในหุ้นที่เราถืออยู่ ดังนั้น นักลงทุนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีธุรกิจหลักเพียงธุรกิจเดียวต้องพิจารณาถึงการกระจายความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตในอนาคตมีมาเพียงไหน
ที่มา https://www.ryt9.com/s/iq05/2799732 และ https://www.ryt9.com/s/iq10/2960195