นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Automation) ถือเป็นกลุ่มนิวเอสเคิร์ฟที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศและเกี่ยวโยงเกือบจะทุกภาคส่วนธุรกิจที่ต้องการนำเทคโนโลยี ระบบบิ๊กดาต้า และนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาบริหาร
รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยคาดการณ์ ภายใน 3 ปีนับจากนี้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และออโตเมชั่นในไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท
( ชิต เหล่าวัฒนา )
ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ คาดจะมีการลงทุนรวม 2-3 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งนี้ จากการเปิดเผยตัวเลขขอรับการลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้นมีการขอลงทุน 6.78 แสนล้านบาท พบว่ามากกว่า 50% หรือราว 3.37 แสนล้านบาท
มีเป้าหมายที่จะลงทุนเกี่ยวกับหุ่นยนต์และออโตเมชั่น สอดคล้องกับรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ระบุว่า ภายในปี 2562 ตลาดหุ่นยนต์และออโตเมชั่นจะขยายตัวถึง 19% ถือเป็นอัตราเติบโตอันดับหนึ่งของอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) นำโครงเรื่อง และผลศึกษาเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศและผลิตบุคลากรรองรับไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นคน พร้อมเงื่อนไขต้องอุดหนุนวัตถุดิบและผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อแลกกับสิทธิการยกเว้นภาษีการลงทุน 3 ปี และข้อเสนออื่นๆ เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน
นายชิต กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทรายใหญ่ มาสอบถามแสดงความสนใจลงทุนใน อีอีซีจำนวนมาก บางรายขอพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ล่าสุดมียื่นเข้ามาแล้ว 7-8 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดโลกด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นอยู่แล้ว คาดว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่จะได้เห็นการเข้าขอลงทุนอีกจำนวนมาก