หากมองเศรษฐกิจของไทยเองนั้น ปีนี้ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนเช่นกัน โดยปัจจัยเสี่ยงหลักๆ นั้นจะมาจาก ‘ต่างประเทศ’ เป็นสำคัญ แต่หนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ‘ในประเทศ’ ที่คงยังต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดก็คือ ‘การเมือง’ นั่นเอง
ทีมงาน Wealthythai.com มีมุมองที่น่าสนใจเก็บตกจากงาน “ONEAM Investment Forum 2019” ที่จัดโดย ‘บลจ.วรรณ’ มาฝากกัน
“การเมืองไร้เสถียรภาพ”...ทะเลาะนอกสภาปัจจัยเสี่ยงหลัก
“ดร.ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี2019 นี้ส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูพัฒนาการอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ในระยะสั้นดูดีขึ้นแต่ก็ยังวางใจไม่ได้
แต่ยังมีภาษีอีกอย่าง คือ Auto Tariffs ที่สหรัฐใช้กับทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่จีนตรงนี้ก็ต้องจับตาดูเช่นกัน รวมถึงเศรษฐกิจจีนเองที่จะต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้เกิดเป็นความเสี่ยงในระบบบเศรษฐกิจของตัวเองในระยะยาวขึ้นมาได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจจีนแย่เราก็คงแย่ไปด้วย
“ปัจจัยเสี่ยงในประเทศเอง ซึ่งแบงก์ชาติก็หวังว่าทุกอย่างจะไม่มีอะไรที่น่ากังวล รัฐบาลหลังเลือกตั้งคงจะเป็น ‘รัฐบาลผสม’ ซึ่งคงจะขับเคลื่อนโครงการอะไรใหม่ๆ ได้ยาก รัฐบาลใหม่อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนักจากสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำไว้
และไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐบาลก็เชื่อว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการสานต่อ ที่น่าห่วงคือการทะเลาะกันทางการเมือง ถ้าทะเลาะกันในสภาก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้า ‘เสถียรภาพไม่ดี’ จนออกมาทะเลาะกันนอกสภาตรงนั้นจะน่าห่วงมากและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน”
หวั่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน...‘สะดุด’
“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกปี19 มีแนวโน้มชะลอตัวลงแต่ไม่ใช่ ‘เศรษฐกิจถดถอย (Recession)’ ที่เศรษฐกิจเติบโตติดลบแต่ประการใด โดยโลกจะมีการเติบโตที่ ‘แตกต่าง’ กันไปในปีนี้ มีทั้งเศรษฐกิจที่โตช้าอย่าง ‘สหรัฐ’ หรือ ‘ยุโรป’ เป็นต้น
กับเศรษฐกิจที่เติบโตสูง ได้แก่ ‘อาเซียน’ ที่เฉลี่ยโต 5%โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) เพราะเติบโตจากฐานที่ต่ำ ‘จีน’ ก็ยังเติบโตดีแม้จะชะลอลงมาบ้างแต่ก็เป็นความตั้งใจของรัฐบาลจีนเอง การโต 6.0-6.5% ในปี19 ถือว่ายังสูง แม้จะมีบางเสียงมองว่าตั้งแต่ปี2008 เป็นต้นมา อาจจะมีการประมาณการเศรษฐกิจจีนสูงเกินไป 2% ต่อปีก็ตาม หากตัด GDP ของจีนออกไป 2% ก็ยังโต 4.0-4.5% ก็ถือว่ามีการเติบโตที่สูงอยู่ดี
“รัฐบาลหลังเลือกตั้งน่าจะเป็น ‘รัฐบาลผสม’ ซึ่งส่วนใหญ่ไทยก็มีรัฐบาลผสมมาตลอด แต่ครั้งนี้...เราจะมีรัฐบาลผสมที่มีพรรคเยอะมากที่สุด และดูแล้ว ‘พรรคประชาธิปัตย์’ จะเป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะประเมินแล้ว ‘พรรคพลังประชารัฐ’ หรือ ‘พรรคเพื่อไทย’ เองไม่น่าจะรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงลำพัง นั่นจึงทำให้ประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งหากประชาธิปัตย์ไม่เลือกข้างใดเลย ประเทศก็ไปต่อไม่ได้อีกเหมือนกัน”
ที่สำคัญไม่รู้ว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะมี ‘ความมุ่งมั่น’ เข้มแข็งเหมือนกับเจ้าของไอเดียเดิมหรือเปล่า โครงการ EEC เป็นโครงการใหญ่ที่เลิกยากจริง แต่ก็มีโครงการใหญ่ที่อาจจะ ‘ปิดไม่ทัน’ รัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถ้าเจรจากับรายแรกไม่เสร็จ จะเรียกรายที่2 มาเจรจาต่อหรือไม่ หรือจะล้มโต๊ะแล้วเริ่มกันใหม่ ถ้าเริ่มใหม่จะไม่มีระบบขนส่งเชื่อม 3 สนามบิน แต่มีสนามบินที่ไม่มีระบบขนส่งเชื่อมก็จะเป็นปัญหาตามมาอีก และยังมีโครงการลักษณะเช่นนี้อีกหลายโครงการอาจจะสะดุดได้เช่นกัน
เชื่อ ‘ต่างชาติ’ มั่นใจขนเงินกลับลงทุน...หลังมีรัฐบาล
“พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ จำกัด ยอมรับว่า นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายหุ้นไทยในช่วงนี้ส่วนหนึ่งคงจะรอดู ‘ผลการเลือกตั้ง’ ประกอบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนปี2018 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์อาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้นักลงทุนขายหุ้น อย่างไรก็ตามหากหลังเลือกตั้งมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วและมีความต่อเนื่อง
โดยไม่มีการประท้วงเกิดขึ้น ถือเป็นสัญญาณให้นักลงทุนต่างชาติกลับมามองไทยและตลาดหุ้นไทยก็น่าจะปรับขึ้นได้ หาก ‘ไม่มีเลือกตั้ง’ ตลาดก็ไม่น่าสนใจ เงินต่างชาติก็ไม่น่าจะไหลเข้า เพราะราคาหุ้นไทยตอนนี้ไม่ได้ ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ ขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
“ตลาดหุ้นในระยะสั้นก่อนมีการเลือกตั้ง หากดูจากสถิติที่ผ่านมา ถ้าก่อนเลือกตั้งหุ้นจะปรับตัวขึ้นและหลังเลือกตั้งจะปรับตัวลง แต่หากก่อนการเลือกตั้งหุ้นไม่ขึ้น หลังเลือกตั้งก็จะปรับตัวลงไม่มาก ทั้งนี้หลังเลือกตั้งหากรัฐบาล ‘มีเสถียรภาพ’ ประเมินว่าเงินลงทุนต่างชาติมีโอกาสไหลกลับเข้าประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท และหนุนให้ดัชนีหุ้นไทยขยับไปแตะระดับ 1,850 จุด ได้เช่นกัน โดยบริษัทประเมินเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ไว้ที่ 1,723 จุด ที่กำไรบริษัทจดทะเบียน 111 บาทต่อหุ้น ที่สัดส่วนราคาต่ำกำไรสุทธิ (P/E) 14.8 เท่า”