นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ว่า กระทรวงพลังงานต้องการแจ้งให้ ผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์ฯ ในประเทศมีกว่า 30 รายการเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสทางธุรกิจตลาดพลังงานทดแทน
โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเติบโตมากขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) กำหนดซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์ภาคประชาชน 1 หมื่นเมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) 2,725 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐต้องการส่งสัญญาณคือต้องการให้เอกชนได้วางแผนการลงทุนได้ทันทีเพราะตลาดที่ใหญ่จะทำให้มีความต้องการใช้แผงจำนวนมาก ดังนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดการผลิตเองในประเทศมากกว่าการที่จะไปสนับสนุนการนำเข้ามา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรและช่างเทคนิคต่างๆ รองรับการติดตั้งและการบำรุงรักษาหลังการขายเพื่อให้มีมาตรฐาน ฯลฯ
"ขณะนี้เรามีการติดตั้งการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์แล้วประมาณ 3,443 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนดีพีดีเดิมซึ่งกำหนดไว้ทั้งสิ้น 6,000 เมกะวัตต์ แต่พีดีพีฉบับใหม่ได้ปรับเป็นสิ้นสุดแผนปี 2580 จะมีไฟฟ้าจาก โซลาร์รวม 12,725 เมกะวัตต์ โตกว่าเดิม 5 เท่า และยังไม่รวมกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งเองใช้เอง หรือ IPS ที่คาดว่าจะมีสูงขึ้นในอนาคตอีกไม่น้อยกว่า 4,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นตลาดจะเติบโตมาก ขณะที่การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้นเงินลงทุนลดลงจากอดีตถึง 40% จึงเป็นโอกาสที่ดีของประชาชน" นายศิริ กล่าว
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายใต้แผนพีดีพีหากคำนวณเป็นหลังคาที่อยู่อาศัยจะมีสูงถึง 2 ล้านหลังคาเรือน แต่จะมีการรับซื้อไฟฟ้าช่วง 10 ปีแรก นำร่องปีละ 100 เมกะวัตต์ ก่อนเพื่อทดลองตลาด โดยวันที่ 20 มี.ค.นี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดชี้แจงเกณฑ์และเงื่อนไขโดยละเอียดอีกครั้ง
ส่วน โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปเปิดประมูลการติดตั้งนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จากนั้นจะทยอยในเขื่อนอื่นๆ ตามที่ กฟผ.ศึกษาไว้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า กกพ.จะพิจารณาเกณฑ์และรูปแบบการสนับสนุนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนระยะที่ 1 วันที่ 15 มี.ค.นี้ เปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่าง 18 มี.ค.-1 เม.ย. 2562 และคาดว่าจะเปิดรับข้อเสนอเดือน พ.ค.-ก.ค. 2562 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2562 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้เดือน ต.ค. 2562
สำหรับแผนการรับซื้อกลุ่มเป้าหมายเป็นภาคครัวเรือน โดยต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านที่อยู่อาศัย) ติดตั้งน้อยกว่า 10 กิโลวัตต์/มิเตอร์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี รวมทั้งโครงการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2562