นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเป็นประธานการสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ว่า ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งต้องการให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งเร่งการลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก การส่งออกไม่ดี เอกชนชะลอการลงทุนรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง
ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานเดียวกันว่ารัฐวิสาหกิจไทยต้องเร่งทำใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่
- การเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจไทยสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ อย่างไรก็ตามรัฐวิสาหกิจไม่เหมือนกับภาคเอกชน เพราะมีส่วนหนึ่งที่เป็นของรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่ต้องคำนึงถึงกำไรสูงสุด แค่พอมีกำไรเลี้ยงตัวเองให้สามารถทำตามนโยบายได้ และสามารถดูแลสังคมในส่วนที่ต้องดูแลได้ก็พอ เช่น ภาคการเงิน ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้คนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ทำอย่างไรจะทำให้คนจนมีบ้านเป็นของตัวเอง เหล่านี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
- การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น การรั่วไหล เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐวิสาหกิจไทยต้องเร่งแก้ไข เพราะที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจถูกตราหน้าว่าเป็นจุดที่มีการคอร์รัปชั่น การรั่วไหลอยู่เป็นประจำ โดยการรั่วไหลนั้นมี 2 ระดับ ได้แก่
(1.)ระดับนโยบายที่จะมีคนดูแลทางการเมืองเข้ามาสั่งการ และรัฐวิสาหกิจบางส่วนก็จำเป็นต้องทำ
(2.)ระดับล่างสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไข
"ผมยืนยันว่าในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เคยมีการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของรัฐวิสาหกิจ และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คำถามว่าจะแก้อย่างไร วิธีแก้ในระดับบน คือ ต้องสร้างระบบของการบริหารความเสี่ยงที่จะป้องกันคำสั่งที่ไม่ถูกต้องให้ได้
ซึ่งรัฐวิสาหกิจต้องไปออกแบบมา ส่วนระดับล่างก็ต้องไปดูระเบียบต่างๆ ว่าสามารถตรวจสอบ และถ่วงดุลกัน นี่คือหัวใจสำคัญ ไม่เช่นนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่อง รั่วไหลต่อเนื่อง" นายอภิศักดิ์ กล่าว
( นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง )
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจจะต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เรื่องดิจิทัล อีโคโนมี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังดำเนินการเรื่องดิจิทัลเพย์เมนต์ พร้อมทั้งกำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลต้องรับและจ่ายเงินเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เพราะเราต้องการเปลี่ยนการชำระเงินของประเทศ การเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประเทศ
นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ติดตามและพยายามเรื่องการขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพราะการลงทุนในส่วนนี้สร้างผลตอบแทนที่ดีทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน ในเมื่อเป็นสิ่งที่ดีเราจึงอยากเห็นการขับเคลื่อนให้ได้เร็วที่สุด เรื่องนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการคลัง เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจถือเป็นการลงทุนของภาครัฐด้วย
และรัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่มีสินทรัพย์รวมกันถึง 15 ล้านล้านบาท เท่ากับจีดีพีประเทศ ที่ผ่านมามีกำไรถึงปีละ 4 แสนล้านบาท หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดการรั่วไหล จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก